07 มีนาคม 2562

บทความวิจัย การบริหารจัดการโรงเรียนหมอลำ ของแม่ครูราตรี ศรีวิไล


การบริหารจัดการโรงเรียนหมอลำ ของแม่ครูราตรี  ศรีวิไล
The  Administration  of the Mawlam School  Held 
by Ms. Rati  Sriwilai

บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย

บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนหมอลำ ของแม่ครูราตรี ศรีวิไล มุ่งศึกษา ชีวประวัติ ผลงาน การบริหารจัดการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย และแนวทางในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน (หมอลำ) ในด้านชีวประวัติ พบว่า แม่ครูราตรี ได้ศึกษาวิชาชีพหมอลำกลอน การแต่งกลอนลำ จากบิดา มารดา พี่ชาย และพี่สาว จนยึดเป็นอาชีพตลอดมา เมื่อ ปี พ.. 2529 แม่ครูราตรี ได้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) ขึ้น จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วประเทศ  จนกระทั่ง ปี พ.. 2547 แม่ครูราตรี ได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนแต่นั้นเป็นต้นมา  แนวทางในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ) พบว่า ภูมิปัญญาอีสาน  (หมอลำ) เป็นศิลปะที่ประชาชนชื่นชม หวงแหน และสนใจเรียนอยู่ไม่ขาดสาย ที่ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี และที่อื่น ๆ ควรตั้งศูนย์ข้อมูล และให้บริการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยรัฐให้การสนับสนุน ด้านงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการต่อไป
คำสำคัญ  :  การบริหารจัดการ,โรงเรียนหมอลำ,ภูมิปัญญาอีสาน

Abstract
The study of how Ms.Rati Sriwilai manage her Mawlam School include : her personal data, how she administered the school and the ways of preservation. She practiced how to become Mawlam and Malam poet rince her Childhood. Her parents, her brother and her sister acted as her teachers She has run her career as traditional Mawlam singer since then. Till the year B.E. 2529, she established the new style of mawlam called “Mawlem Sing” that has been very popular throughout  the world. In the year B.E.2547 She has been granted the budget from the Office of Culture to hold the Mawlam School in order to teach al the interested youngsters to become the next and next generations of Mawlam and keep the Mawlam career last long.
Keywords : Administration, Mawlam School, Thai Northeast Wisdom

 

* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งการค้นคว้าอิสระเรื่อง การดำเนินการศึกษาตามอัธยาศัยในศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต  (ศษ.ม.) สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2554


บทนำ
            การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตในแต่ละวันและเป็นการเรียนรู้ตามความสนใจของมนุษย์ (รุ่ง แก้วแดง,  2538) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 ได้กำหนดให้กระบวนการเรียนรู้ต้องส่งเสริม ศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และการบูรณาการในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม  และภูมิปัญญาไทย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,  2544)
แก่นสารของการศึกษาตามอัธยาศัยย่อมเน้นความสำคัญของภูมิปัญญาโดยเฉพาะภูปัญญาไทย ที่ได้สั่งสมมาสืบทอดกันมา เอื้ออำนวยให้แก้ปัญหาได้ (ชัยวัฒน์ ขำหินตั้ง,  2547) สำหรับการถ่ายทอดและสืบทอดภูมิปัญญาไทยในยุคปัจจุบันนั้นกระทำ ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากได้ขาดช่วงการสืบทอดภูมิปัญญา ทั้งนี้เนื่องจากภูมิปัญญาทั้งภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญานิรนาม และภูมิปัญญาไทยได้สูญหายไปแล้วจำนวนมากส่วนที่เหลือในขณะนี้ก็อยู่ในภาวะที่เสี่ยงกับการสูญหายเนื่องจากอายุขัยของผู้ทรงภูมิปัญญาที่สืบทอด (สามารถ จันทร์สูรย์ และประทีป อินแสง,  ...)
แต่ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้ส่งผลให้ชาวไทยบางกลุ่มต้องประสบกับภาวะล้มละลาย ก็ยังเหลือบุคคลอีกกลุ่มที่ได้ใช้ ภูมิปัญญาไทย ที่คนไทยได้คิดค้น เรียนรู้ สั่งสม กลั่นกรองและทดลองใช้จนตกผลึก สามารถนำความรู้นั้นมาแก้ปัญหาของตนเองและสังคมได้  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงได้จัดทำนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาขึ้น วันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า  "ภูมิปัญญาไทยจะได้รับการฟื้นฟู (สำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,  2545)
            หนึ่งในกลุ่มที่ยึดมั่นในภูมิปัญญาไทยตามนัยนี้ คือศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไล ซึ่งเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม (การแสดงพื้นบ้าน หมอลำซิ่ง) เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียติจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ด้านศิลปกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,  2544)
            จากอดีตที่ผ่านมาหมอลำของอีสานได้ซบเซาลงอย่างมากแม่ครูราตรี ศรีวิไลซึ่งเป็นครูต้นฉบับหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) ได้ยืนหยัดทุ่มเททางด้านการเผยแพร่หมอลำมาโดยตลอดจนกระทั้งเมื่อปี พ.. 2552 หมอลำได้ถูกประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ หมอลำพื้น หมอลำกลอน และลำผญา หมอลำทั้ง 3 ประเภทในขณะนี้ได้มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับชาติไปแล้ว (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, 2554)
จากสภาพการที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการจัดตั้งศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) แม่ครูราตรี ศรี เป็นดั่งคลังสมองหรือคลังแห่งความรู้ที่รวบรวมข้อมูลทางทฤษฎี และทางปฏิบัติในด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานตลอดมา (หมอลำราตรี ศรีวิไล,  ...)
            ดังนั้นแนวทางวิธีการจัดตั้ง และการบริหารจัดการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไลจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและน่าศึกษาวิจัยอย่างยิ่ง  รวมไปถึงชีวประวัติ และผลงานของแม่ครูราตรี ศรีวิไล ก็เป็นอีกประเด็นที่ควรศึกษาเพราะถ้าหากขาดประเด็นเหล่านี้ก็อาจจะไม่มีศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
            จากสภาพและเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจศึกษา ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ) ของแม่ครูราตรี ศรีวิไล เพื่อทราบถึง การบริหารจัดการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย และชีวประวัติของแม่ครูราตรี ศรีวิไลในเชิงลึก ที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมอีสานไว้โดยการปรับเปลี่ยนประยุกต์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยถิ่นอีสาน หมอลำกลอนประยุกต์ ให้เข้ากับยุคสมัยจนได้เป็น ครูภูมิปัญญาไทยผู้ให้กำเนิดศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมพื้นบ้านการแสดง (หมอลำ) ที่เป็นต้นแบบหรือนวัตกรรมที่สำคัญยิ่งในวงการศึกษาไทยในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
            1. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการศึกษาตามอัธยาศัยในศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
            2. เพื่อศึกษาชีวประวัติและผลงานของแม่ครูราตรี ศรีวิไล
            3. เพื่อศึกษาหาแนวทางอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ)

วิธีการวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้ใช้วิธีศึกษาแบบผสมผสาน (Mixed Methods) ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ ตามประเด็นศึกษาดังต่อไปนี้
1.   การวิจัยเชิงปริมาณ
                  1.1  ประชากร จำนวนทั้งหมด 160 คน จำแนกเป็น ครอบครัวแม่ครูราตรี ศรีวิไล จำนวน 3 คน คณะกรรมการศูนย์การเรียน ฯ  จำนวน 7 คน ลูกศิษย์ จำนวน 67 คน ครู-อาจารย์ จำนวน 13 คน และบุคคล
อื่น ๆ จำนวน 70 คน
                  1.2  กลุ่มตัวอย่าง มีจำนวนรวม 113 คน กำหนดจำนวนตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของ Krejcie & Morgan และใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) (ทิพยา กิจวิจารณ์,  2552)  ได้แก่ ครอบครัวแม่ครูราตรี ศรีวิไล จำนวน 3 คน คณะกรรมการศูนย์การเรียน ฯ จำนวน 7 คน ลูกศิษย์ จำนวน 67 คน ครู-อาจารย์ จำนวน 10 คน และ บุคคล
อื่น ๆ จำนวน 26 คน
      1.3  เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตรส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ แบ่งออกเป็น 2 ตอนคือ ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบคำถามแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) และตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการศึกษาตามอัธยาศัยในศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไล ใช้คำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ
                1.4  การสร้างแบบสอบถามโดยการศึกษาตำรา เอกสาร หลักการ แนวคิด เกี่ยวกับการบริหาจัดการ และภูมิปัญญาไทย ร่างแบบสอบถามแล้วนำเสนออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างต่อไป
                1.5  การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลวิจัย ไปยังศูนย์การเรียนฯ แล้วนำแบบสอบถามไปแจกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 113 คน เพื่อตอบแบบสอบถาม และนัดเก็บแบบสอบถามภายใน 2 สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ 1 ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมา จำนวน 80 ฉบับ คิดเป็น 70.80% ของแบบสอบถามทั้งหมด และในสัปดาห์ที่ 2 ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมา จำนวน 33 ฉบับ คิดเป็น 29.20 % ของแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งมีความสมบูรณ์สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ทุกฉบับ 
                1.6  การวิเคราะห์ข้อมูลคำถามแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) ได้นำมาวิเคราะห์ โดยการแจกแจงความถี่ (Frequency) และหาค่าร้อยละ (Percentage) และคำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)  ได้นำมาวิเคราะห์ โดยหาค่าเฉลี่ย (Mean :) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  (Standard Deviation : S.D.) ส่วนสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย  (Mean :)  และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.)
2.  การวิจัยเชิงคุณภาพ
     2.1  กลุ่มเป้าหมาย รวมจำนวน 15 คน ประกอบด้วย  ผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 1 คน ครอบครัวแม่ครูราตรี ศรีวิไล จำนวน 2 คน คณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ฯ จำนวน 5 คน ลูกศิษย์ จำนวน 5 คน และบุคคลอื่น ๆ จำนวน 2 คน
                 2.2  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง กล้องถ่ายรูป สมุดจดบันทึก เครื่องบันทึกเสียง และกล้องถ่ายวีดีโอ
     2.3  การสร้างแบบสัมภาษณ์ โดยศึกษาแนวคิด ทฤษฏี เอกสาร ตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และกรอบแนวคิดในการวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการและภูมิปัญญาไทยเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการสร้างแบบสัมภาษณ์นำแบบสัมภาษณ์ให้ผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาความเหมาะสมและความถูกต้องตามเนื้อหา ภาษา และความสอดคล้องเกี่ยวกับประเด็นคำถาม เพื่อขอความเห็นชอบก่อนนำไปเก็บข้อมูล
     2.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ให้ข้อมูลหลัก และกลุ่มเป้าหมาย พบปะพูดคุยเพื่อสร้างความคุ้นเคย  แจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดนัดหมายวันเวลาที่จะดำเนินการสัมภาษณ์ที่แน่นอน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เตรียมตัว และเตรียมเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเก็บรวบรวมข้อมูล
                 2.5 การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ การแปลความ การตีความ และใช้เทคนิคการตรวจสอบแบบสามเส้า (Methodological  Triangulation)  และนำเสนอข้อมูลโดยการพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis)

ผลการวิจัย
1. ผลการวิจัยเชิงปริมาณ
            จากการศึกษาความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการศึกษาตามอัธยาศัยในศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไล ทั้งหมด 113 คน พบว่า ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 113 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  ร้อยละ 57.5 อายุระหว่าง 18-35 ปี ร้อยละ52.2เป็นลูกศิษย์ ร้อยละ 59.0 และการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ร้อยละ 45.1 
  ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการศึกษาตามอัธยาศัยในศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ฯ ทั้ง 6 ด้าน  พบว่า 1) ด้านองค์กรและการบริหารจัดการ ได้มีการวางแผนในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย อย่างเป็นระบบชัดเจน  2) ด้านบุคลากร โดยผู้บริหารสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคคลากรในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ฯ ด้วยดีตลอดมา  3) ด้านงบประมาณ จะเห็นได้ว่างบประมาณที่รัฐจัดให้ไม่มีความเพียงพอในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ฯ 4) ด้านผู้เรียน จะเห็นได้ว่าผู้เรียนต้องการเรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียน (การศึกษาในระบบ) 5)  ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน จะเห็นได้ว่ามีการเสริมแรงจูงใจในขณะที่สอนอยู่ตลอดเวลา 6)  ด้านผลกระทบต่อสังคมนั้นศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไลช่วยในการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านของหมอลำอีสานไว้ให้ยั่งยืนตลอดมา
2.  ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ
                 2.1 ด้านชีวประวัติและผลงานของแม่ครูราตรี ศรีวิไล ผลการวิจัยพบว่า
            แม่ครูราตรี ศรีวิไล เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2495 อำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เดิมชื่อ นางราตรีสวัสดิ์ อุ่นทะยา ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร บิดาชื่อนายเสริม นาห้วยทราย มารดาชื่อ นางหมุน นาห้วยทราย มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน และได้สมรสกับ นายวิชิต บงสิทธิพร มีบุตรด้วยกัน 2 คน การศึกษาสายสามัญจบการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาดุริยางค์ศิลป์ วิชาเอกหมอลำ ที่วิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม การศึกษาสายวิชาชีพ ได้ศึกษาวิชาชีพหมอลำกลอน และการแต่งกลอนลำ จากบิดา มารดา พี่ชาย และพี่สาว ส่วนหมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอนนั้นเรียนกับครูสง่าจิต  และเรียนลำกลอนประยุกต์ (ลำซิ่ง)จากพี่ชาย และประสบการณ์ของตนเอง
            แรงบันดาลใจที่ทำให้แม่ครูราตรี ศรีวิไล ได้ยึดอาชีพหมอลำ และอาชีพนักแต่งกลอนลำ เกิดจากความใฝ่ฝันอยากเป็น ศิลปิน ครูสอนหมอลำ และนักแต่งกลอนลำ ที่มีชื่อเสียงเช่นเดียวกับ บิดา มารดา พี่ชาย และพี่สาว
            ต่อมาสังคมไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ) ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากหมอลำกลอนย้อนยุค หมอลำหมู่หรือลำเรื่องต่อกลอน สุดท้ายพัฒนามาเป็น หมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) ยุคของหมอลำที่ทำให้แม่ครูราตรี ศรีวิไล มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ เมื่อปีพ.ศ. 2529 เป็นยุคหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) เพราะได้เป็นผู้ค้นคิด และก่อตั้งขึ้นมาร่วมกับพี่ชาย แม่ครูราตรี ศรีวิไลได้สอนหมอลำให้แก่ลูกศิษย์จนประสบผลสำเร็จ กระทั้งเมื่อ ปีพ.ศ. 2547 แม่ครูราตรี ศรีวิไลได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยขึ้น โดยได้มีการแบ่ง วิธีการสอนออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ  1) ส่วนของเนื้อหาการถ่ายทอดความรู้ และ 2) ส่วนของการถ่ายทอดความรู้  ผลงานด้านการแต่งกลอนลำนำไปเผยแพร่
            ในฐานะที่แม่ครูราตรี ศรีวิไล เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ซึ่งได้ทุ่มเทการทำงาน ทางด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหมอลำ และการบริหารจัดการศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยอย่างเพียรพยายาม
ผลสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์ ฯ และแนวโน้ม เป็นไปในทิศทางที่ดี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เริ่มก่อตั้งศูนย์ ฯ จนถึงปัจจุบันมีผู้เรียนจำนวนทั้งสิ้น 516 คน และเครือข่ายของศูนย์การเรียน ฯ ที่เป็นมหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ เป็นต้น ส่วนโรงเรียนได้แก่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ฯลฯ เป็นต้น ปัญหาที่มีผลกระทบต่อศูนย์ ฯ นั้นโดยรวมแล้วไม่มีปัญหา เพราะแม่ครูราตรี ศรีวิไลได้ใช้หลักการบริหารจัดการศูนย์อย่างเป็นระบบ เอาธรรมมะเข้ามาบริหารจัดการร่วมด้วย ทำตัวเป็นกันเองกับลูกศิษย์ ฯ และผู้ร่วมงาน ส่วนงานที่ทำอยู่ศูนย์ ฯ ก็ไม่มีปัญหาเพราะการบริหารจัดการส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับแม่ครูราตรี ศรีวิไล เป็นผู้สั่งการเพียงคนเดียวเท่านั้นปัญญาไทย ฯ ในปัจจุบัน
                 2.2 แนวทางในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาถิ่นไทยอีสาน (หมอลำ) จากการวิจัยพบว่า
            มีแนวทางดังนี้ 1) ควรส่งเสริมให้คนที่เป็นหมอลำได้ใช้ภูมิปัญญาที่สะสมไว้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 2)ทำการประยุกต์หมอลำแบบเก่าให้เข้ากับสมัยใหม่มากที่สุด และหมอลำนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์จุดเด่นของตนให้มากที่สุด 3) คอยอบรมบ่มเพาะให้ลูกศิษย์ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง 4)  รัฐบาลควรเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนศิลปะพื้นบ้าน (หมอลำ) รวมไปถึงเชิญให้หมอลำไปแสดงตามงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆโดยไม่ให้หมอลำอยู่นิ่งเฉย 5) จัดทำหลักสูตรหมอลำให้มีมาตรฐานและชัดเจนมากที่สุดแล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนของกระบวนการศึกษาอย่างจริงจัง 6) หน่วยงานของรัฐบาลควรช่วยส่งเสริมงบประมาณโดยการเข้ามาสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนหมอลำด้วย 7) ทำการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลหมอลำไว้ให้มากที่สุดเพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป 8) ควรทำการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์หมอลำ เพื่อนำหมอลำมาประยุกต์เปลี่ยนแปลงพัฒนาจัดเผยแพร่ทำเป็นนิทรรศการในกิจกรรมต่าง ๆ   

สรุปและอภิปรายผล      
             ผลการวิจัยครั้งนี้ พบว่า ความคิดเห็นด้านองค์กรและการบริหารจัดการ โดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะศูนย์ ฯ ได้มีการวางแผนในการบริหารจัดการตนเองอย่างเป็นระบบชัดเจน  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ สมพงษ์ เกษมสิน (2526) ที่กล่าวว่า การจัดการองค์กรนั้นเป็นกระบวนการจัดตั้งเพื่อความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่สามารถทำให้การประกอบการขององค์การบรรลุเป้าหมายได้   ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ยิ่งยง คำอ้อ (2549) ที่กล่าวว่าการอำนวยการหรือการบังคับบัญชาเป็นหลักสำคัญยิ่งของการบริหาร ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาที่จะทำการแต่งตั้ง และอำนวยการให้ดำเนินภารกิจไปด้วยดี รวมไปถึง มีการกำหนดเป้าหมาย ระเบียบแบบแผนในการดำเนินการอย่างชัดเจน  มีการมอบหมายหน้าที่ในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจนเสมอ และมีการคัดเลือกบุคคลให้มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งอย่างชัดเจน
            2. ชีวประวัติ และผลงาน
            จากการสัมภาษณ์ แม่ครูครูราตรี ศรีวิไล เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ฯ พบว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้แม่ครูราตรี ศรีวิไล ได้ยึดอาชีพหมอลำ และอาชีพนักแต่งกลอนลำ เกิดจากความใฝ่ฝันอยากเป็น ศิลปิน ครูสอนหมอลำ และนักแต่งกลอนลำ จนประสบผลสำเร็จในชีวิตได้เป็นครูสอนหมอลำควบคู่กับเปิดสำนักงาน หมอลำราตรี ศรีวิไลไปด้วย
            หลังจากได้ทุ่มเทงานทางด้านการสอนหมอลำมาโดยตลอด จนต่อมาใน ปีพ.ศ.2544 ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  โดยการคัดเลือกแต่งตั้งให้เป็น  ครูภูมิปัญญาไทย   (รุ่นที่ 1) และได้ทำการเปิดการเรียนการสอนหมอลำมาจนถึงปัจจุบัน (ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร, 2554 : สัมภาษณ์) แม่ครูราตรี ศรีวิไล ได้ผ่านวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของหมอลำในสังคมไทยอีสานที่เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 เป็นช่วงของลำกลอนย้อนยุค จนถึงปีพ.ศ. 2525 เป็นช่วงหมอลำหมู่หรือลำเรื่องต่อกลอน และจากปีพ.ศ. 2529 เป็นต้นมา แม่ครูราตรี ศรีวิไลได้ประยุกต์หมอลำกลอนย้อนยุคให้เป็นหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) ซึ่งเป็นหมอลำบูรณาการที่ทำให้หมอลำยืนหยัดอยู่อย่างยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน (ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร, 2554 : สัมภาษณ์) เนื้อหาสาระและขั้นตอนการปฏิบัติในการสอนหมอลำของแม่ครูราตรี ศรีวิไลที่ใช้ในการสอนลูกศิษย์นั้นได้แบ่งการสอนออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ 1) ส่วนของเนื้อหาถ่ายทอดความรู้ และ 2) ส่วนของการถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ การฝึกลำตามเนื้อกลอนลำที่มอบให้ ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของ จิราวัลย์ ซาหลา (2546) ได้ศึกษากระบวนการเรียนรู้กระบวนการถ่ายทอดศิลปะ การแสดงของหมอลำอาชีพ  พบว่า ถ่ายทอดของศิลปินหมอลำอาชีพนั้น มีวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์โดยมีวิธีการถ่ายทอดตามที่ตนได้ฝึกฝนและเรียนรู้มา โดยครูผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะ สาธิต การฝึกปฏิบัติจริง และเลียนแบบจากต้นแบบ (ตัวครูผู้สอน)  หลังจากที่ผู้เรียน ได้เรียนหมอลำจบหลักสูตรแล้วใครมีแววในการแต่งกลอนลำแม่ครูราตรี ศรีวิไล ก็จะสอนให้ทำการวิเคราะห์สุนทรียของกลอนลำ ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของราตรีราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร (2554) ที่ศึกษาสุนทรียภาพในกลอนลำของหมอลำกลอน : องค์ประกอบและปัจจัยเกื้อหนุนต่อการสร้างสรรค์ และแนวคิดของ พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ (2546) เกี่ยวกับหลักของญาณวิทยา ทฤษฏีบ่เกิดการเรียนรู้ ประจักษ์นิยม ของเดวิด  ฮิวม์ (David  Hume) ที่ถือว่าถือว่า  ความรู้เกิดจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส  ซึ่งได้แก่   ตา หู จมูก ลิ้น กาย  หลังจากที่ลูกศิษย์ได้เรียนสำเร็จหลักสูตรทั้งลำกลอนธรรมดา และลำกลอนประยุกต์ (ลำซิ่ง) ภายใน 6 เดือนแล้ว แม่ครูราตรี ศรีวิไลก็ได้ส่งลูกศิษย์เข้าทำการประกวดหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) จนได้รับรางวัลจากการประกวดอย่างมากมาย และส่วนใหญ่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มากที่สุด กลอนลำที่ใช้ในการประกวดเป็น กลอนลำซิ่งเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม กลอนลำซิ่งรณรงค์ประเภทต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของ  วุฒิศักดิ์ กะตะศิลา  (2541) ศึกษาบทบาทหมอลำราตรี ศรีวิไล ผู้บุกเบิกลำซิ่ง การศึกษาพบว่า หมอลำราตรี ศรีวิไล ได้ทำการแต่งกลอนลำสำหรับตนเองและลูกศิษย์ ใช้ในงานทั่วไป สำหรับลำประกวด และใช้สำหรับลำรณรงค์เรื่องต่าง ๆ ที่หน่วยงานราชการขอความอนุเคราะห์มา ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของ วุฒิศักดิ์ กะตะศิลา  (2541) ศึกษาบทบาทหมอลำราตรี ศรีวิไล ผู้บุกเบิกลำซิ่ง การศึกษาพบว่า บทบาทด้านการลำ หมอลำราตรี ศรีวิไล รับงานทั่วไป ลำช่วยงานของหน่วยงานราชการลำประกวด ลำอัดแผ่นเสียง วีดีทัศน์ และเทปบันทึกเสียงเพื่อการจำหน่ายและเผยแพร่
                3. แนวทางในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาถิ่นไทยอีสาน (หมอลำ)
            ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไลได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทีผ่านมาอย่างมากมาย โดยอ้างอิงจากสถิติของการจ้างงานแสดงในสำนักงานหมอลำราตรี ศรีวิไล พบว่า หมอลำกลอนย้อนยุคได้มีการจ้างงานไปแสดงลดน้องลงเมื่อเทียบกับหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) ทำให้หมอลำกลอนย้อนยุคซบเซาจากการแสดงลงมาก และเมื่อปี 2550-2552 หมอลำกลอนย้อนยุคเริ่มมีผู้มาจ้างไปแสดงขึ้นมาบ้างแล้วแต่ก็ยังน้อยกว่าหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง)อยู่มาก เมื่อเทียบสถิติการจ้างไปแสดง จนกระทั้งถึงปี 2551-2554 กลับพบว่า จากสถิติหมอลำกลอนย้อนยุคมีคนสนใจจ้างไปแสดงเป็นจำนวนมากเทียบเท่ากับหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง)สาเหตุที่หมอลำกลอนย้อนยุคกระเพื่อมขึ้นอาจจะเป็นเพราะหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) เกิดปัญหาในการควบคุมสถานการณ์หน้าเวทีไม่ได้จึงเกิดการทะเลาะวิวาทกันหน้าเวทีหมอลำทำให้ผู้จ้างงานเสียหาย เป็นต้น แต่สำหรับแม่ครูราตรี ศรีวิไลนั้นได้ทำการแสดงทั้งสองแบบคือ หมอลำกลอนย้อนยุค และหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) จึงมีผลกระทบค่อนข้างน้อยจากการจ้างงานของสำนักหมอลำราตรี ศรีวิไล
            ส่วนผู้เรียนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหมือนกันคือจากที่เคยมาเรียนประจำอยู่ที่ศูนย์ ฯ ก็เปลี่ยนไปเรียนทางไปรษณีย์แทนเพราะสะดวกในการเรียนแต่กลับพบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจจะเป็นเพราะว่าผู้หญิงมีทางเลือกในการทำงานมากมาย เช่น การเรียนหนังสือในโรงเรียน (ในระบบ) ทำงานบริษัท ทำงานห้าง ทำงานโรงงาน เป็นต้น ส่วนผู้ชายอาจเป็นเพราะ สะดวกต่อการมาเรียน ครอบครัวไม่เป็นห่วงมากในการมาเรียน สะดวกต่อการออกงานไปแสดงจากประเด็นที่ผู้วิจัยได้ศึกษามาทั้งหมดนี้จากการดำเนินการของศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยของแม่ครูราตรี ศรีวิไลได้สอดคล้องกับแนวคิดของ ประมวล พิมพ์เสน (2546) การแสดงทุกอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความสนใจ ความต้องการของผู้ฟัง หรือผู้ที่ว่าจ้างไปแสดง การแสดงดนตรีทางทีวีสร้างอิทธิพลต่อผู้ฟังอย่างกว้างขวาง ผู้ฟังลำ กับผู้ฟังดนตรี แทบจะแบ่งกันสิ้นเชิง ถ้าสังเกตผู้ฟังหมอลำมักจะเกิดก่อนปี 2510 ถ้าเกิดหลังจากนั้นจะมาชอบดนตรี มีผู้ฟังบางส่วนจะให้ลูก ๆ ไปชมก่อนหลังจากหมดช่วงของดนตรีแล้วก็จะกลับมากเฝ้าบ้านให้พ่อ แม่ ให้ฟังหมอลำปัจจุบันตามที่ไปสังเกตผู้ชมดูประมาณ 20 งานตามถิ่นที่ต่าง ๆ และจากการสอบถามชาวคณะหมอลำได้ความว่า ผู้ฟังจะแบ่งกัน 50:50 คือฟังดนตรี 50% ฟังลำ 50% นั่นก็หมายความว่าหมอลำหมู่กำลังจะหมดความสนใจจากประชาชน ผู้ที่สนใจชมการแสดงดนตรีมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทางคณะต้องหาวิธีการสอนความต้องการของประชาชน จะต้องหานักร้องที่ดี  ๆ เด่น ๆ มาเข้าสังกัดวง หรือไม่ก็คัดนักร้องที่เสียงเดียวในวงไปอัดแผ่นเสียง คัดเลือกและฝึกซ้อมนักเต้นให้ทันสมัยเช่นเดียวกันกับวงสตริงหรือวงลูกทุ่งทั่วไป ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นไปด้วย
            ในปัจจุบันวัยหนุ่มวัยสาวมีเงินมีอิทธิพลในการไปว่าจ้างคณะหมอลำ เขาจึงเลือกเอาคณะที่มีการแสดงคอนเสิร์ตเด่น ๆ ดนตรีดี ๆ เห็นได้ว่าแม่ครูราตรี ศรีวิไลเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาหมอลำอีสานให้อยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนซึ้งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์คณะกรรมการศูนย์  ฯ ที่กล่าวว่าต้องพยายามหาแนวทางประนีประนอมกล่าวคือทั้งยึดมั่นสาระสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย (หมอลำ) ของศูนย์ ฯ แต่ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนตามกระแสเปลี่ยนแปลง และความต้องการของสังคมสอดคล้องกับแนวคิดของ อุดม บัวศรี (2546) กล่าวว่าศิลปวัฒนธรรมของชาติ จะมีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์ของชาติ การเปลี่ยนแปลงที่วัฒนธรรมเป็นห่วงมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง ไร้สำนึก ไร้การศึกษา เป็นต้น หากวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยส่งเสริมงบประมาณโดยการเข้ามาสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนหมอลำ ศิลปวัฒนธรรมด้านนี้คงถูกหลงลืมไปอย่างแน่นอน
            4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
                4.1 ในบริบทที่สังคมไทยได้พัฒนา และเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญไปทุกด้าน โดยเฉพาะด้านค่านิยม และผลประโยชน์ขัดแย้งกันอย่างค่อนข้างรุนแรงนั้น ข้อสรุปที่ได้จากการวิจัยในครั้งนี้ ชี้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือภูมิปัญญาไทย รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน (หมอลำ) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนกระทั่งประสบปัญหาวิกฤต รัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐควรจะตั้งการกอบกู้ ฟื้นฟู และบูรณาการภูมิปัญญาไทยเป็นวาระแห่งชาติ
                4.2 จากกรณีตัวอย่างทั้งด้านชีวิต และผลงานของแม่ครูราตรี ศรีวิไลได้อนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่หมอลำในด้านการแสดงหมอลำ และการแต่งกลอนลำ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมทั้งได้ช่วยเหลือหน่วยงานราชการต่าง ๆในการแสดงกิจกรรมการรณรงค์เผยแพร่กลอนลำมาโดยตลอด หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรม ได้แก่ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ สมควรเสนอชื่อแม่ครูราตรี ศรีวิไลเป็นผู้สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในโอกาสต่อไป
            5. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
                สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ควรนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ใน การทำนุบำรุงการศึกษาทางภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน (หมอลำ) โดยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรหมอลำ และในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป

บรรณานุกรม
[1]   กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวง
       วัฒนธรรม.  (2554).  ฮีตฮอยหมอลำ :
       มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม.  
       ขอนแก่น : ขอนแก่นการพิมพ์.
 [2]   ชัยวัฒน์ ขำหินตั้ง.  (2547).  การใช้ภูมิ
       ปัญญาไทยเป็นสื่อการสอนของครูฟิสิกส์    
       ในโรงเรียนมัธยมศึกษาเขตการศึกษา 11.   
       วิทยานิพนธ์.  กศ..  (การศึกษา
        มหาบัณฑิต).  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
        มหาสารคาม. 
[3]    ทิพยา กิจวิจารณ์.  (2552).  วิธีวิทยาการ
        วิจัยทางการศึกษา.  เอกสารประกอบการ
         เรียนการสอน  รายวิชา.  บัณฑิตวิทยาลัย
         มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
[4]    ประมวล พิมพ์เสน.  (2546).  บอกลูกบอก
         หลาน หมอลำหมูวาดขอนแก่น. 
         ขอนแก่น.  คลังนานาธรรม. 
         การศึกษาพฤติกรรมรับผิดชอบของ
         นักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง / พิมพ์
         พรรณ เทพสุเมธานนท์.  มหาวิทยาลัย
         รามคำแหง : กรุงเทพฯ.
 [6]     ยิ่งยง คำอ้อ.  (2549).  การรับรู้เกี่ยวกับ
          ความพร้อมขององค์กรปกครองส่วน
          ท้องถิ่นในการ ดำเนินงานหลักประกัน
          สุขภาพถ้วนหน้า.  การค้นคว้าอิสระ.
          .. (การจัดการระบบ  สุขภาพ). 
           มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
           มหาสารคาม.
[7]   ราตรีศรีวิไล บงสิทธพร.  (2554).  
         สุนทรียภาพในกลอนลำของหมอลำ
          กลอน : องค์ประกอบและปัจจัยเกื้อหนุน
          ต่อการสร้างสรรค์.  วิทยานิพนธ์.  ศศ.. 
         (หมอลำ).  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
        มหาสารคาม.
[8]    รุ่ง แก้วแดง.  (2538).  การศึกษาตลอด
          ชีวิตการศึกษาของคนไทยในยุคโลการ
          ภิวัฒน์.  พิมพ์ครั้งที่ 2. 
          กรุงเทพมหานคร : คุรุสภาลาดพร้าว.
[9]   วุฒิศักดิ์ กะตะศิลา.  (2541).  บทบาท
          ของหมอลำราตรี ศรีวิไล ผู้บุกเบิกลำซิ่ง. 
          วิทยานิพนธ์. ศศ.. (เน้นมนุษยศาสตร์). 
          มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
          มหาสารคาม.
[10]    สมพงษ์ เกษมสิน.  (2526).  การบริหาร.  
          พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพมหานคร : ไทย
          วัฒนาพานิช.
[11]    สามารถ จันทร์สูรย์ และประทีป อิน
           แสง.  (...).  การศึกษากับ
           ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
           (แนวทางการจัดการศึกษาด้านศิลปะ
           วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย).
           ....  :  ....
[12]    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา
           แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.  (2544). 
           ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 1 ภาค
           ตะวันออกเฉียงเหนือ.  
           กรุงเทพมหานคร  :  คุรุสภาลาดพร้าว.
[13]     _______.   (2545).  ครูภูมิปัญญาไทย
            รุ่นที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 
            กรุงเทพฯ  :  สกศ.
[14]      หมอลำราตรี ศรีวิไล. (...).  การ
             ขยายเครือข่าย ศูนย์การเรียนภูมิ
             ปัญญาไทย.  ขอนแก่น  :  สำนักงาน
              ราตรี ศรีวิไล.
[15]       อุดม บัวศรี.  (2546).  วัฒนธรรม
              อีสาน.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  ขอนแก่น. 
              คลังนานาธรรม.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

ข่าวเรียกบรรจุครูทั่วไทย อ่านต่อได้ที่: http://www.kruwandee.com/widget.html

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน