05 กันยายน 2562

วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

          วรรณกรรม เป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ เพื่อเรียกหนังสือทุกประเภทที่เป็นที่เข้าใจกันโดยปริยายว่ายังไม่ได้รับการรับรองหรือยกย่องว่าดีเด่นถึงขึ้นเป็นวรรณคดี คำว่า วรรณกรรม จึงมีความหมายตรงกับคำว่า วรรณคดีในความหมายอย่างกว้างนั่นเอง คำนี้ปรากฏใช้เป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 (รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์, 2526) เพื่อให้ผู้สนใจในด้านวรรณกรรมได้เข้าใจง่ายขึ้น ผู้เรียบเรียงขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวรรณกรรม ตามหัวข้อต่อไปนี้
          1. ความหมายและความสำคัญของวรรณกรรม
2. ความแตกต่างของวรรณคดี และวรรณกรรม
3. กำเนิดและวิวัฒนาการของวรรณกรรมท้องถิ่น
4. วิวัฒนาการของวรรณกรรมปัจจุบัน
5. ความสำคัญของวรรณกรรม
6. ประโยชน์ในการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น
7. คุณค่าวรรณกรรมท้องถิ่น
8. ประวัติความเป็นมาของวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
9. ประเภทวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
10. ปัญหาของวรรณกรรม
11. แนวทางการแก้ไขปัญหาวรรณกรรม
12. ตัวอย่างวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน เรื่องท้าวขูลู นางอั้ว
13. สรุปวรรณกรรม

1.       ความหมายและความสำคัญของวรรณกรรม

          วรรณกรรมท้องถิ่น เป็นคำที่มีขอบเขตกว้างขวางและครอบคลุมไปถึงเนื้อหาสาระหลายแบบ ซึ่งนักคติชนวิทยาต่าง ๆ ก็พากันที่จะเสนอความหมาย คำจำกัดความ และขอบเขตของวรรณกรรมท้องถิ่น ไว้อย่างหลากหลาย บางคนก็มีความเห็นว่า วรรณกรรมท้องถิ่น คือ ศิลปะเชิงถ้อยคำ บางคนเสนอความคิดเห็นว่า    คือ วรรณกรรมที่แสดงออกอย่างมีวรรณศิลป์ จนสามารถเป็นวรรณคดีได้ และบางคนก็เห็นว่าวรรณกรรมท้องถิ่น คือ รูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดของมนุษย์

1.1      ความหมายของวรรณกรรม
          วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เช่น บทความ   สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น เรียงความ บทภาพยนตร์ (พจนานุกรรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน,  2525)
          วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทุกประเภท ทุกชนิดที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น นับตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน (ดนุพล ไชยสินธุ์,  2553)
          ลักษณะของวรรณกรรมท้องถิ่น (ภัทรา ตั้งคำ, 2529) มีดังนี้
          1. วรรณกรรม ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง ผู้คนได้เล่าวรรณกรรมประเภทนี้สืบต่อกันจาก ปากต่อปาก (วรรณกรรมมุขปาฐะ) และเป็นที่นิยมเล่ากันมาในหมู่ชนชั้นชาวบ้านทั่วไป เช่น ตำนาน เป็นต้น
          2. วรรณกรรมซึ่งปรากฏนามผู้แต่ง วรรณกรรมเหล่านี้สืบต่อกันโดยบันทึกเรื่องราวลงไว้เป็นลายลักษณ์ อักษร (วรรณกรรมลายลักษณ์) ผู้คนนิยมอ่านวรรณกรรมประเภทนี้ เช่นเดียวกัน เช่น นิทานสุภาษิต และหนังสือประจำบ้าน เป็นต้น
          3. วรรณกรรมที่มีกำเนิดมาจากชาวบ้าน ในระยะแรกวรรณกรรมประเภทนี้สืบทอดด้วยปาก ต่อมา  จึงมีการบันทึกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น นิทานสำหรับเด็กของพี่น้องกริมม์
                   จากความหมายของวรรณกรรมที่กล่าวมาข้างต้นจึงสรุปได้ว่า วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ที่นำเสนอในด้านความรู้ ความคิด และถ่ายทอดออกมาทั้งเป็นร้อยแก้ว และร้อยกรองโดยไม่จำกัดรูปแบบเนื้อหา และมีคุณค่าต่อจิตใจ
คำว่า วรรณกรรม นั้น เป็นคำที่มีความหมายครอบคลุมเนื้อหากว้างขวางมาก และวรรณกรรมท้องถิ่นก็ยังมีเนื้อหาและรูปแบบแตกต่างไปจากวรรณกรรมทั่วไปที่อาจนับว่าเป็นวรรณคดีดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
          นักคติชนวิทยาบางคนมีความเห็นว่า วรรณกรรมพื้นบ้านหรือ folk literature นั้น แม้ว่า จะมีความหมายและขอบเขตค่อนข้างจำกัดอยู่กับวรรณกรรมมุขปาฐะมากกว่าวรรณกรรมลายลักษณ์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มันค่อนข้างจะเป็นสมบัติส่วนรวมของกลุ่มคนที่ด้วยการศึกษามากกว่ากลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง แต่ในการพิจารณาค้นคว้านั้น ควรจะศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมมุขปาฐะควบคู่ไปกับวรรณกรรมลายลักษณ์โดยไม่ควรแยกออกจากกัน
          สำหรับสื่อทางภาษานั้น คือ เครื่องมือสื่อสารที่ใช้ภาษาทั้ง ภาษาที่ใช้ถ้อยคำ และไม่ใช้ถ้อยคำ ในการสื่อสารของวรรณกรรมท้องถิ่นนั้นนักวิชาการส่วนใหญ่จะเพ่งเล็งการสื่อสารหรือการถ่ายทอดด้วยภาษาที่ใช้ถ้อยคำมากกว่า เนื่องจากวรรณกรรมท้องถิ่นนั้นมีลักษณะเด่น คือ เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ จึงต้องมีการถ่ายทอดด้วยการบอกเล่า ส่วนภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำ เช่น ภาษาท่าทาง คือ สีหน้า น้ำเสียง การเคลื่อนไหวร่างกาย การแต่งกาย ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนประกอบเวลาที่มีการแสดง เช่น การเล่านิทานให้คนฟัง การขับเพลง หรือ บทกวี เพื่อเป็นการสำเริงอารมณ์แก่ผู้ชม เป็นต้น  (เสถียรโกเศศ  นาคะประทีป, 2507)

2.       ความแตกต่างของวรรณคดี และวรรณกรรม

          เป็นปัญหาน่าสงสัยในคนรุ่นใหม่อยู่มาก ปัจจัยใดที่ทำให้หนังสือที่แต่งในอดีตนั้น จึงถือว่าเป็นวรรณคดี ส่วนหนังสือที่แต่งในปัจจุบันเป็นได้เพียงวรรณกรรม อันที่จริงไม่ว่า วรรณคดี หรือวรรณกรรม ก็เป็นคำที่เราสมมุติขึ้นมาใช้เท่านั้น แต่เราพอจะมองเห็นได้ว่าระหว่างคำ 2 คำ นี้มีช่องว่าอยู่ ช่องว่านี้ คือ เครื่องชี้ความแตกต่างระหว่างวรรณคดี และวรรณกรรม ซึ่งมีอยู่ 2 ประการ คือ 1) คุณภาพหนังสือ และ 2) กาลเวลา (รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์,  2526)

2.1      คุณภาพหนังสือ
          การวัดคุณภาพของหนังสือไม่ใช่สิ่งที่กระทำกันได้โดยง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียเลย    เรามีเกณฑ์ใหญ่ ๆ สำหรับพิจารณาคุณภาพของหนังสือวรรณคดี เกณฑ์ที่ว่านี้ คือ วรรณศิลป์ หรือ ศิลปะในการแต่งและเรียบเรียงหนังสือ มีองค์ประกอบอยู่ 6 ประการ วรรณศิลป์หรือศิลปะในการแต่งหนังสือ 6 ประการนี้ จะเป็นเครื่องประกอบรูปแบบและเนื้อหาให้หนังสือเล่มหนึ่งมีคุณภาพมากน้อยต่างกันไปตามฝีมือของผู้เขียน วรรณคดีเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ผู้อ่านรับรู้ความประณีตความงาม ความละเมียดละไม หรือในทางตรงข้าม ความกราดเกรี้ยวได้ด้วยใจโดยผ่านตัวอักษรหรือเรียกว่ากวีใช้ภาษาเป็นสื่อ ด้วยภาษา   ด้วยอักษร ผู้อ่านจึงได้ยินทั้งเสียง ได้เห็นทั้งภาพและได้รู้สึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามคุณภาพของวรรณคดีวัดได้ด้วยคุณภาพของผู้อ่านด้วย
2.2      กาลเวลา
          ภาษิตจีนกล่าวว่า หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คนเครื่องพิสูจน์ความดีที่เที่ยงแท้ คือกาลเวลา หนังสือที่มีคุณค่าจึงต้องอยู่ได้นานทุกยุคทุกสมัย แม้เนื้อหาแนวคิดจะล้าสมัยเพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่ความงาม ความไพเราะ ความหยั่งเห็นธรรมชาติแห่งชีวิตเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ หนังสือวรรณคดีเก่าหลายเล่มถูกประณามหยามเหยียด เช่น อิเหนา ลิลิตพระลอ ฯลฯ เพราะเนื้อหาและแนวคิดไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน ผู้วิจารณ์คงจะลืมนึกถึงว่า วรรณคดีส่วนใหญ่สะท้อนภาพของยุคสมัยของมันเองเท่านั้น มิใช่สะท้อนภาพของอนาคตในด้านลัทธิ ค่านิยม รสนิยม ฯลฯ เปลี่ยนแปลงไปตามยุค แต่ธรรมชาติของมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง จึงทำให้วรรณคดีอย่างอิเหนา ลิลิตพระลอ คงทนต่อกาลเวลา     มาจนถึงปัจจุบันนี้

3.       กำเนิดและวิวัฒนาการของวรรณกรรมพื้นบ้าน
          ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของวรรณกรรมท้องถิ่น จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับลำดับของยุคสมัยต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจในช่วงเวลาและลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่นี้จะใช้ตามยุคสมัยของประวัติวรรณคดีฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นแบบของยุโรป หรืออาจเรียกว่าตามแบบสากล
(กิ่งแก้ว อัตถากร,  2519) ดังนี้
          1. ยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือ ยุคที่ยังไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วยการเขียนแบ่งเป็น 3 ยุค เรียงตามลำดับความเจริญทางด้านความคิดอ่านของมนุษย์ คือ ยุคหิน ยุคเหล็ก และยุคสำริด
          2. ยุคโบราณ หรือยุคของอารยธรรมกรีกโรมัน ซึ่งเป็นต้นตอของอารยธรรมของยุโรปและเป็นยุคที่เริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์แล้ว
          3. ยุคกลาง คือ สมัยที่เริ่มต้นจากการที่จักรวรรดิโรมันสลายตัวในศตวรรษที่ 5 และ ไปจนถึงศตวรรษที่ 15 เมื่อพวกอิสลามตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลแตก ทำให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูความคิดอ่าน หรือ      อารยธรรมกรีกโรมันขึ้น
          4. ยุคเรอแนสซองส์ หรือ ที่ไทยเราเรียกว่า ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ตลอดมาจนถึงศตวรรษที่ 16
5. สมัยศตวรรษที่ 17 เป็นสมัยที่ฝรั่งเศสรุ่งเรืองสูงสุดในทุกด้าน ด้านวรรณคดี เรียกว่า ศตวรรษคลาสสิค
6. สมัยศตวรรษที่ 18 เป็นระยะของความคิดอ่านเพื่อเปลี่ยนแปลง และความคิดนี้ไปถึงจุดระเบิดในรูปของการปฏิวัติจริง ๆ ในปี ค.ศ.1789
7. สมัยใหม่ คือ สมัยศตวรรษที่ 19 หมายถึงสมัยที่ตามหลังการปฏิวัติในปี 1789 จากนี้จะเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา การตัดขาดจากอดีต
8. สมัยปัจจุบัน คือ สมัยศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นศตวรรษปัจจุบันของเรา
กำเนิดของวรรณกรรมท้องถิ่นนั้น กล่าวกันว่ามีขึ้นมาในลักษณะเดียวกันกับกำเนิดของภาษาของมนุษย์ คือ ไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร เราทราบกันแต่เพียงว่าคนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสังคมกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มเล็ก  ๆ ต่างก็มีการเล่าวรรณกรรมท้องถิ่นและมีการสืบทอดด้วยวิธีการของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง และการถ่ายทอดนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ทักษะของคนที่ทำการถ่ายทอด อิทธิพลทางสังคม อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อการถ่ายทอดปรัมปราประเพณี อาจจะโดยจงใจหรือไม่จงใจก็ได้

4.       วิวัฒนาการของวรรณกรรมปัจจุบัน

          วิวัฒนาการของวรรณกรรมปัจจุบันทั้งรูปแบบและเนื้อหามีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย ดังนั้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้มองเห็นความคลี่คลายของวรรณกรรมปัจจุบันของไทย จึงจะแบ่งวรรณกรรมไทยปัจจุบันตามช่วงเวลา ดังนี้
          1. ยุคเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2471)
2. ยุคอรุ่งอรุณ (พ.ศ. 2472 - 2475)
3. ยุคศิลปะเพื่อชีวิต ถึง สมัยชาตินิยม (พ.ศ.2476-2488)
4. ยุคกบฏสันติภาพ (พ.ศ. 2489-2500)
5. ยุคมืด (พ.ศ.2501-2506)
6. ยุคฉันจึงมาหาความหมาย (พ.ศ.2507-2515)
7. ยุควรรณกรรมเพื่อประชาชน (พ.ศ. 2516 – ปัจจุบัน)

1.       ยุคเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2471)
                    ระยะนี้ คือ ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ตลอดรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 7 ระยะเวลาเหล่านี้สังคมไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็วเนื่องจากได้รับอิทธิพลตะวันตก นักเรียนนอกที่ไปเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ จากยุโรปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดินทางกลับมาพร้อมกับความรู้ ความคิด ค่านิยม ที่สั่งสมมาจากดินแดนเหล่านั้น สังคมไทยจึงไม่ได้พัฒนาไปเฉพาะด้านวัตถุ คือ มีไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ รถไป การจัดตั้งส่วนราชการต่าง ๆ การจัดระบบการศึกษาฯลฯ แต่มีการพัฒนาไปในด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งกาย การเปลี่ยนแปลงค่านิยม มีการเลิกทาส เป็นต้น เครื่องสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยมากที่สุดในระยะนี้ คือ วรรณกรรม โดยมีหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ ที่ออกจำหน่ายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 เป็นต้นมา เป็นสนามสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ ความคิด ค่านิยมใหม่ของสังคม วารสาร หนังสือพิมพ์ ตลอดจนบทวรรณกรรมที่มีอิทธิพลสำคัญในช่วงเวลานี้ (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์,  ม.ป.ป.) ได้แก่
                    สยามประเภทรายเดือน (2440) ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เน้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์และประวัติบุคคลสำคัญ
                    ดุลวิภาคพจนกิจ รายปัก (2445-49) และศิริพจนภาค รายเดือน (2451) ของ ต.ว.ส. วัณณาโภ (เทียนวรรณ) เน้นบทความวิพากษ์วิจารณ์สังคมและเสนอข้อคิดอันเป็นประโยชน์ต่อการปกครอง
                    ลักวิทยา รายเดือน (2443-45) ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และพระยาสุรินทราชา ร่วมกันดำเนินการและเป็นนักเขียน เป็นหนังสือเน้นงานแปลทั้ง      นวนิยายและเรื่องสั้นตะวันตก
                    ถลกวิทยา รายเดือน (2443-48) ของหลวงวิลาสปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) เน้น  นวนิยายแปลแนวผจญภัยลี้ลับ และบทวิจารณ์บ้านเมือง
                    ทวีปัญญา รายเดือน (2447-50)  เป็นวารสารของทวีปัญญาสโมสรซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งขึ้น เป็นนวนิยายสืบสวนสอบสวน
                    ผดุงวิทยา รายปักษ์ (2500-58) โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ โดยนายเซียวฮวดเส็ง ศรีบุญเรือง เป็นเจ้าของดำเนินรายการ เกี่ยวกับนวนิยายแปล
                    ศรีกรุง รายเดือน (2456-2470) นายสุกรี วสุวัต เจ้าของและผู้จัดทำ ลงบทประพันธ์ของนักเขียนและนักแปล
                    เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (2458-72) ลงพิมพ์นวนิยายเรื่องสั้นที่แปลจากตะวันตกเป็นส่วนใหญ่
                    ไทยเขษม รายเดือน (2467-2478) นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในหนังสือเล่มนี้คือ เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป โดยเปิดโอกาสให้คนภายนอกส่งบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองมาลงพิมพ์ได้
                    สวนอักษร (2469) เป็นแหล่งที่มีนักเขียนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากที่สุดในยุคนี้

          2.       ยุคอรุ่งอรุณ (พ.ศ. 2472 - 2475)
                    ช่วงระยะเวลา 3 ปี ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย ได้เกิดวรรณกรรมประเภทการเมืองหรือวรรณกรรมเสนอข้อคิดเห็นขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสภาพของสังคมการเมืองไทยเป็นแรงผลักดันสำคัญ ปัญหาสำคัญของประเทศไทยในขณะนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเสื่อมโทรงกว่าสมัยใด ๆ เนื่องจากผลต่อเนื่องจากการใช้จ่ายมากในรัชการก่อน ประกับกับการเป็นระยะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เพื่อการแก้ปัญหาในประเทศให้ดีขึ้นและนำระบอบประชาธิปไตยมาปกครองประเทศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้เมื่อ 24 มิถุนายน และฉบับถาวรเมื่อ 10 ธันวาคม 2475
          จึงทำให้วรรณกรรมในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นวรรณกรรมที่เน้นสาระและความจริงมากขึ้น ในระยะนี้มีงานแปล และงานแปลงวรรณกรรมต่างประเทศน้อยลง วรรณกรรมมีลักษณะเป็นไทยแท้ แสดงบุคลิกของตนเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จุดเด่นของวรรณกรรมในยุคนี้ คือ เน้อหาเข้มข้น และเสนอข้อคิดอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและการเมือง เช่น ในด้านสารคดี บทความทางการเมืองแพร่หลายมาก หนังสือพิมพ์ไทยใหม่รายวันมักจะลงบทความทางการเมืองเพื่อส่งเสริมและเรียกร้องให้ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย และเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมใหม่ เช่น บทความขนาดยาวชื่อ ชีวิตของประเทศ ของนาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒน์ ร.น. (ศรทอง) ลงในไทยใหม่รายวัน ประมาณ พ.ศ. 2470 และบทความของศรีบูรพา ชื่อ มนุษย์ภาพ ลงในศรีกรุง พ.ศ. 2474 เรียกร้องการปกครองในระบอบใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งมีผลทำให้หนังสือพิมพ์ถูกปิด แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่

3.       ยุคศิลปะเพื่อชีวิต ถึง สมัยชาตินิยม (พ.ศ.2476-2488)
                    หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์แล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิมมาก คนชั้นกลางมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม วรรณกรรมส่วนใหญ่ในระยะนี้จึงสะท้อนภาพของคน    ชั้นกลาง และความคิดแบบเสรีนิยมอันเนื่องมาจากหลักการของประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นความเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญปรากฏให้เห็นชัดในงานวรรณกรรมเกือบทุกชิ้น เช่น ความคิดเรื่องความเสมอภาคของคนในสังคม ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย นักเขียนที่เด่นในยุคนี้ คือ นักเขียนที่มีผลงานรุ่นแรกมาในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เช่น ดอกไม้สด เขียน ชัยชนะของหลวงนฤบาล ผู้ดี หนึ่งในร้อย     เป็นต้น
          จนเมื่อปี พ.ศ.2484 ไทยตกอยู่ในภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพาฯ เมื่อญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและเมริกา เราได้รับผลกระทบจากสงครามไปด้วยโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เกิดความชาดแคลนไปทั่วในด้านการพิมพ์กระดาษมีราคาแพงและหายาก หนังสือพิมพ์บางเล่มต้องปิดตัวเองโดยปริยาย เช่น เอกชน สวนอักษร ศิลปินฯลฯ นอกจากผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สองนี้แล้ว เหตุการณ์ภายในที่บีบรัด           วงวรรณกรรมไทยอีกอย่างหนึ่งคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2485 วรรณคดีสมาคมฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ พร้อมกับลัทธิชาตินิยม และการส่งเสริมวัฒนธรรมและภาษาไทยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลกระทบต่อวรรณกรรม คือ การปรับปรุงตัวอักษรไทย และวางหลักเกณฑ์การเขียนหนังสือไทยใหม่ โดยงดใช้สระ พยัญชนะที่มีเสียงซ้ำกัน เช่น ฬ ฤ ฤา ภ ภา ซ ต ฆ ฌ กำหนดให้เขียนหนังสือไทยด้วยคำไทยแก้ เช่น พฤกษา เขียน พรึกสา ฤทธิ์ เขียน ริทธ์ เฒ่า เขียน เธ่า เป็นต้น การใช้คำแทนชื่อ และคำรับ คำปฏิเสธ โดยประกาศในราชกิจจากนุเบกษา ฉบับที่ 59 เช่น คำแทนชื่อเอกพจน์ใช้ ฉัน ท่าน เขา/มัน พหูพจน์ใช้ เรา ท่านทั้งหลาย เขาทั้งหลาย/พวกมัน ส่วนคำรับใช้ จ๊ะ คำปฏิเสธ ใช้ ไม่ ผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยชุดนี้ ทำให้วงการประพันธ์ และหนังสือพิมพ์ของไทยเกิดความปั่นป่วนอย่างยิ่ง นักเขียนได้รับความยุ่งยากและสับสนในการสะกดตัวให้ถูกต้องตามวัฒนธรรมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และทำให้บทประพันธ์จืดชืด อ่านยาก และหมดรสชาติในการอ่าน  เพราะภาษาอยู่ในยุค อักขรวิบัติโดยสมบูรณ์

4.       ยุคกบฏสันติภาพ (พ.ศ. 2489-2500)
                    เป็นระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วงวรรณกรรมไทยในช่วงระยะเวลานี้เกิดปะทะกันทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มความคิด ศิลปะเพื่อศิลปะ และ ศิลปะเพื่อชีวิต ทำให้เกิดแบ่งแยกนักเขียนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่  กลุ่มหนึ่งมีผลงานหนักไปทางเรื่องพาฝันในแนวต่าง ๆ อีกกลุ่มหนึ่งมีผลงานหนักไปในทางเสนอข้อคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่เป้าหมายเดิมที่วางไว้ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง วรรณกรรมในช่วงนี้ จึงเป็นเรื่องที่หนักไปในทางเสนอข้อคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง การเรียกร้องความเสมอภาคและเสรีภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สภาพที่ดีขึ้น ความจริงก็ คือ แนวคิดในกลุ่มแรกนั้น สืบทอดมาจากวรรณกรรมในยุคแรก และยังคงได้รับความนิยมอยู่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน ส่วนแนวคิดในกลุ่มหลังนั้นเริ่มจะฟักตัวขึ้นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและขยายตัวไปอย่างวดเร็วในกลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ทั้งสองกลุ่มต่างผลิตผลงานออกมาในจำนวนพอ ๆ กัน

5.       ยุคมืด (พ.ศ.2501-2506)
                    เหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญและมีผลกระทบต่อวงการวรรณกรรมในช่วงเวลานี้ที่สำคัญ คือ การปฏิวัติรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ 2 ครั้ง ในปี 2500-2501 ซึ่งเป็นผลทำให้นักเขียนกลุ่มก้าวหน้าหรือกลุ่มศิลปะเพื่อชีวิตที่เริ่มสร้างแนวทางใหม่ของวรรณกรรมในยุคก่อนหน้านี้ต้องจำกัดบทบาทของตนลงอย่างมาก เนื่องจากหลังการรัฐประหารรัฐบาลมุ่งรักษาเสถียรภาพทางการเมืองโดยเร่งด่วนที่สุด และขจัดปัญหาคอมมูนิสต์ภายในประเทศ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 จึงเป็นเครื่องลิดรอนเสรีภาพทางปัญญาอย่างโจ่งแจ้ง และมีผลในการปรามนักเขียนหัวก้าวหน้าได้อย่างเด็ดขาด ดังเช่น ข้อความในข้อ 6 ของประกาศ ฉบับนี้ว่า
ข้อ 6 ข้อความซึ่งเป็นเท็จในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจข หรือวิตกกังวล หรือเกิดความหวาดกลัว หรือ ข้อความในลักษณะที่เป็นการปลุกปั่น หรือยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือข้อความทำนายในทางที่อาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ประชาชนในโชคชะตาของบ้านเมือง
          ดังนั้น ถ้าจะวิเคราะห์วรรณกรรมในช่วงหลัง พ.ศ.2500 แล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่าความบีบคั้นทางการเมืองมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อวรรณกรรม นักเขียนหัวก้าวหน้าต้องปิดฉากของตนเองไป
          ส่วนในเรื่องร้อยกรอง วรรณกรรมร้อยกรองในแนวเพื่อชีวิตที่รุ่งเรืองในช่วง พ.ศ.2495 -2500 เช่น งานกลอนของนายผี เปลื้อง วรรณศรี อุชเชนี ทวีปวร ฯลฯ หยุดชะงักไปพร้อมกับวรรณกรรมในรูปแบบอื่น ๆ ในช่วงระยะนี้ ชมรมวรรณศิลป์ ของธรรมศาสตร์ เป็นสนามให้นักเขียนรุ่นใหม่หนุ่มสาวได้แสดงฝีมือกันทั้งงานเรื่องสั้น และร้อยกรอง แต่งานกลอนส่วนใหญ่เป็นกลอนรักหวาน ๆ รูปแบบถูกต้องตามฉันทลักษณ์ที่เล่าเรียนมา  เช่น กลุ่มอนุสารวรรณศิลป์มี ประยอมซองทอง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูรณ์ ฯลฯ งานร้อยกรองในระยะนี้จึงเป็นในลักษณะกลอนแสดงอารมณ์ และความเพ้อฝัน จนกระทั่งสังคมศาสตร์ปริทัศน์ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2505 และพิมพ์บทกวีของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ในฉบับปฐมฤกษ์ บทที่ชื่อว่า รักทะเลเป็นจุดให้เกิดการตื่นตัวทางวรรณกรรมอย่างสูง เพราะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ปัญหาในการวิพากษ์วิจารณ์มักเป็นเรื่องรูปแบบ  วงนักกลอนต่าง ๆ กล่าวหาว่าอังคารเขียนร้อยกรอง ไม่ถูกฉันทลักษณ์ ซึ่งข้อนี้กลับเป็นใบเบิกทางให้แก่นักกลอนรุ่นใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดในด้านรูปแบบนักมาจนถึงปัจจุบัน

6.       ยุคฉันจึงมาหาความหมาย (พ.ศ.2507-2515)
                    หมดยุคเผด็จการเรื่องอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ แม้ผู้รับช่วงอำนาจการปกครองต่อจะมีแนวทางไม่แตกต่างกันนัก แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ทำให้บรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเคียดมาตลอด  5 ปี คลี่คลายลงบ้าง วรรณกรรมในระยะนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาสถาบันต่าง ๆ ซึ่งเริ่มเบื่อหน่ายบรรยากาศเฉื่อยชาทางการเมืองและความเน่าเฟะของสังคม จึงรวมตัวกันออกหนังสืออิสระแสดงปฏิกิริยาต่อความเป็นไปของสังคมและได้แพร่ความคิดนี้ในสถาบันการศึกษาในรูปของหนังสือเล่มละบาท จนได้รับการต้อนรับจากนิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่อย่างมาก

7.       ยุควรรณกรรมเพื่อประชาชน (พ.ศ. 2516 – ปัจจุบัน)
                    หลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นยุคที่เรียกว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน ถนนหนังสือจึงคึกคักเป็นอันมาก หนังสือเก่าที่นำมาพิมพ์ใหม่ หรือหนังสือใหม่ก็ตามต่างได้รับความนิยมซื้อจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง แสดงให้เห็นความกระหายทางปัญญาของประชาชน ตลอดหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับลัทธิและประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ เช่น จีนและรัสเซีย ซึ่งถูกกวาดภาพให้เป็นปีศาจน่ากลัวมาแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ เป็นต้น

5.       ความสำคัญของวรรณกรรม

วรรณกรรมท้องถิ่นได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของคนไทยท้องถิ่นด้วย ภาษาถิ่นของตนเองจึงมีเอกลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นแสดงเรื่องราว ประวัติวรรณคดี วัฒนธรรมต่าง ๆ ได้เป็น  อย่างดี ซึ่งวรรณกรรมท้องถิ่นได้มีความสำคัญ ดังนี้
          5.1      วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่น
           วรรณกรรมท้องถิ่น เป็นสัญลักษณ์ของคนในถิ่น แสดงถึงเรื่องราวความเป็นกลุ่มเดียวกัน แสดงถึงการสืบทอดจากบรรพบุรุษเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็อาจแสดงถึงความสัมพันธ์ติดต่อกันของกลุ่มชนที่มีวรรณกรรมคล้ายคลึงกันว่าน่าจะเคยติดต่อกัน เช่น วรรณกรรมเรื่องนางผมหอมของอีสาน ก็ปรากฏต้นฉบับในภาคเหนือและภาคใต้ของไทยด้วย รวมทั้งปรากฏต้นฉบับในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวด้วย
5.2      วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นวัฒนธรรมอีกหนึ่งสาขา
          วรรณกรรมหรือภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม คนในกลุ่มประดิษฐ์คิดขึ้นแล้วใช้สืบต่อกันมาจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนรุ่นหลัง วรรณกรรมท้องถิ่นช่วยบันทึกเรื่องราวของสังคมในแต่ละยุคสมัยเป็นวัฒนธรรมที่มีอยู่ควบคู่กับสังคม หากสังคมเปลี่ยนไปวรรณกรรมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ดังนั้น เราจึงสามารถศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชน โดยเฉพาะกลุ่มชนที่ไม่รู้หนังสือได้จากวรรณกรรมท้องถิ่น
5.3      วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นขุมทรัพย์ของภาษาถิ่น
          วรรณกรรมท้องถิ่นที่บันทึกเรื่องราวของคนในสังคมใด ก็ย่อมต้องอาศัยภาษาถิ่นของสังคมนั้นบันทึก ซึ่งเราสามารถค้นหาคำศัพท์ ความหมาย ภาษา-ถิ่นได้มากจากวรรณกรรมท้องถิ่นที่เปรียบเหมือนเป็นขุมทรัพย์ของภาษาถิ่นนั่นเอง
5.4      วรรณกรรมท้องถิ่น แสดงถึงประวัติหรือวิวัฒนาการทางภาษา
          วรรณกรรมท้องถิ่นจะบันทึกวิธีการใช้ภาษาของคนในสังคมแต่ละท้องถิ่นเอาไว้ให้นักศึกษา นักวิชาการ ได้ค้นคว้าและเข้าใจถึงประวัติความเป็นมา หรือวิวัฒนาการของภาษาถิ่นได้อย่างดีหากวรรณกรรมไม่ได้บันทึกไว้ เราคงไม่สามารถสืบค้นหาคำดั้งเดิม หรือสำนวนคำของคนรุ่นก่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.5      วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งสร้างความบันเทิงแก่สังคม
          เนื้อหาของวรรณกรรมท้องถิ่น นอกจากจะได้สาระแล้วส่วนใหญ่ทุกประเภทจะสร้างความบันเทิงใจ ความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน การละเล่น การร้องรำ ในเทศกาลประเพณีต่าง ๆ ช่วยให้คนในสังคมมีความสุข ช่วยส่งเสริมความมีน้ำใจ ไม่ตรีต่อกันของคนได้เป็นอย่างดี

6.  ประโยชน์ในการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น
 
ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น สามารถสรุปได้ 3 ประการ ดังนี้
          6.1      ประโยชน์ทางด้านวิชาการ 
                   6.1.1    ปรัชญาชีวิตและสังคมของท้องถิ่น อันเป็นพื้นฐานของสังคม เช่น ความเชื่อ คตินิยม  จารีตประเพณี เป็นต้น      
                   6.1.2    การจัดระเบียบสังคมหรือการควบคุมสังคม อันเป็นพันธกรณีของกลุ่มชนต้องประพฤติปฏิบัติ  เพื่อความสงบสุขของประชาคมนั้น ๆ บทบัญญัติต่าง ๆ อันเป็นฐานของสังคมนั้นได้สั่งสอนสืบต่อกันมาโดยมิได้มีการจดบันทึกไว้  แต่ก็ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านั้น ในข้อนี้ต้องเข้าใจร่วมกันว่า สังคมชนบทในสมัยอดีต กฎหมายของของรัฐบาลกลางมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมสังคมมากนัก แต่ปรัชญาพุทธศาสนา จารีต ความเชื่อ คตินิยม ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมจะมีบทบาทควบคุมสังคมอย่างยิ่ง
                   6.1.3    ประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่น วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่น  โดยเฉพาะทางด้านการจัดระบบสังคมการควบคุมสังคมตลอดจนจารีตประเพณีของสังคมนั้น
                   6.1.4    ภาษาถิ่นวรรณกรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะวรรณกรรมลายลักษณ์ที่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอดีตจำเป็นคลังแห่งคำภาษาถิ่นถึงแม้บางคำจะเลิกใช้ไปแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ยังปรากฏในเอกสารวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านั้น  นอกจากให้นักภาษาศาสตร์  ยังสามารถเห็นการคลี่คลายของคำภาษาไทยได้ดีจากเอกสารวรรณกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย
                   6.1.5    เป็นการก้าวหน้าทางวิชาการ การตระหนักถึงคุณค่าของวรรณกรรมท้องถิ่น จนได้มีการนำมาจัดอยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ซึ่งมีแนวโน้มในการที่จะส่งเสริมการศึกษารวบรวมค้นคว้าวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านั้นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  อันเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงเอกลักษณ์ของชนชาติไทย
                   6.1.6    เป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทยไม่ให้สาบสูญก่อนภาวะอันควร

          6.2     ประโยชน์ทางด้านปัจเจกบุคคล
                   6.2.1    เพื่อให้ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น มีมโนทัศน์อันกว้าง ยอมรับแนวคิด ปรัชญาชีวิตของชนทุกชั้น ทุกท้องถิ่น ทุกสังคม
                   6.2.2    ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น จะทราบถึงความเป็นอัจฉริยะของบรรพบุรุษของตน และของท้องถิ่นอื่นอีกด้วย
                   6.2.3    ยอมรับแนวคิดของชนชาติต่างท้องถิ่น ต่างสังคมและต่างยุคสมัย
                   6.2.4    ได้รับประสบการณ์ของชีวิตกว้างขวางยิ่งขึ้น
                   6.2.5    มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาถิ่นวัฒนธรรมของท้องถิ่นอื่น ๆ อีกด้วย
          6.3     ประโยชน์ทางด้านการเมืองการปกครอง
                   6.3.1  ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น จะเกิดความรัก ความเข้าใจ ความภูมิใจในอดีตของท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่และท้องถิ่นอื่น ๆ ของคติด้วย ซึ่งก่อให้เกิดชาตินิยม ภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติ
                   6.3.2  ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นจะเกิดความรักความเข้าใจในท้องถิ่นของตน  ผู้ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น จะตระหนักในคุณค่า และย่อมมีความหวงแหน
                   6.3.3  ซึ่งจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นอีกด้วย
                   6.3.4  ทำให้ความเข้าใจอันดีระหว่างชนในชาติ และย่อมมีความสมานสามัคคีกัน
                   6.3.5  ก่อให้เกิดการพัฒนา ระบบสังคมของชาติย่อมมีทิศทาง โดยอาศัยระบบสังคมท้องถิ่น  ปรัชญาชีวิตในสังคมท้องถิ่น อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนา

7.       คุณค่า วรรณกรรมท้องถิ่น

วรรณกรรมท้องถิ่นมีคุณค่ามากมายสรุปได้ ดังนี้
          7.1      ด้านจริยศาสตร์ มีคุณค่าต่อจิตใจ มีคติเตือนใจและสอนให้เป็นคนดี
          7.2      ด้านสุนทรียศาสตร์ มีคุณค่าต่อความไพเราะ ความงามของภาษา ถ้อยคำ ลีลา ท่วงทำนองของบทเพลง และบทกวี
          7.3      ด้านศาสนา เป็นสื่อถ่ายทอดคำสอนและปรัชญาทางศาสนา เผยแพร่สู่ประชาชน ได้
กว้างขวาง ทำให้ประชาชนมีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจและได้ข้อคิดในการดำรงชีวิต
          7.4      ด้านการศึกษา ให้ประชาชนได้ฟังหรืออ่าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์
          7.5      ด้านภาษา เป็นสื่อให้ภาษาท้องถิ่นดำรงอยู่ ซึ่งควรแก่การอนุรักษ์และสืบทอด
          7.6      ด้านสังคม ปลูกฝังการช่วยเหลือกัน การผูกมิตร การมีมนุษยสัมพันธ์ และพึ่งพาอาศัยกัน
ประกอบการแสดง หรือการนำตำรารักษาโรค ไปใช้ ประกอบอาชีพ

8.       ประวัติความเป็นมาของวรรณกรรมอีสาน

การสืบทอดวัฒนธรรมทางวรรณกรรมและอักษรของอีสานนั้น โดยทราบกันดีว่าอีสานเป็นชนกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงและสืบทอดวัฒนธรรมร่วมกันกับอาณาจักรล้านช้างมาตั้งแต่ในอดีต จึงมีลักษณะร่วมกันอย่างมากทางด้านวรรณกรรมตัวอักษร ตลอดจนภาษาที่ใช้สื่อสารกัน และภาษาอีสานกับภาษาลาวก็มีความคล้ายคลึงกันมาก แต่จะแตกต่างมากกันที่สำเนียงพูดที่ผิดเพี้ยนไปเท่านั้น
อักษรที่ใช้ในอดีตของอีสานมีอยู่ 2 ชนิด คือ อักษรธรรม และอักษรไทยน้อย อักษรธรรมใช้จดบันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา เช่น พระธรรมคัมภีร์ วรรณกรรมชาดก ต่าง ๆ ส่วนอักษรไทยน้อยใช้จดบันทึกเรื่องราวทั่วไปและเป็นอักษรทางราชการจนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขยายการศึกษาระบบโรงเรียนจากภาคกลางสู่ภูมิภาคอื่น จึงทำให้อักษรไทยภาคกลางเข้ามามีอิทธิพลในภาคอีสานและเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2464 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นักเรียนทั่วประเทศใช้อักษรไทยภาคกลาง จึงส่งผลให้ชาวอีสานเลิกใช้อักษรทั้ง 2 ชนิดตั้งแต่นั้นมา จึงทำให้วรรณกรรมที่ใช้อักษรไทยน้อยของอีสานค่อย ๆ เลือนรางไป (ธวัช ปุณโณทก,  2537) และต่อมามีหลักฐานการปรากฏของคำ วรรณกรรม ในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรม ทำหน้าที่เผยแพร่วรรณกรรมและส่งเสริมศิลปะการแต่งหนังสือที่อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สืบต่อจากวรรณคดีสโมสร ในสมัยราชการที่ 6 (ดนุพล ไชยสินธุ์,  2553)
จากการศึกษาระบบโรงเรียนดังกล่าว  ทำให้ชาวอีสานต้องเปลี่ยนไปเรียนหนังสือไทยภาคกลาง เช่น ตำรา ตลอดจนวรรณกรรมต่าง ๆ การได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ใหม่ทำให้คนอีสานเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวต่าง ๆ จากหนังสือไทยภาคกลางมาเป็นภาษาอีสาน เพื่อให้ชาวอีสานผู้ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือและยังนิยมใช้ภาษาดั่งเดิมของตนได้เรียนรู้เรื่องราวของตนและท้องถิ่น ผู้บุกเบิกการแต่งวรรณกรรมไทยภาคกลางสำนวนท้องถิ่นอีสาน น่าจะได้แก่ เจ้าคุณอุบาลีคณูปมาจารย์ (สิริจันโท  จันทร์) และขุนพรมประศาสน์ (วรรณ หรหมกสิกร) ต่อมามีการตั้งโรงพิมพ์และร้านจำหน่ายหนังสือภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่นในปี พ.ศ.2495 ทำให้กวีจังหวัดขอนแก่นได้นำวรรณกรรมไทยภาคกลางแต่งเป็นสำนวนท้องถิ่นอีสานอย่างแพร่หลาย วรรณกรรมไทยภาคกลางสำนวนอีสาน เป็นหนังสือที่มีผู้นิยมอ่านมากเพราะใช้ภาษาและคำประพันธ์ตามความนิยมของท้องถิ่น วรรณกรรมไทยภาคกลางสำนวนอีสานทุกเรื่องแต่งด้วยภาษาอีสานและคำประพันธ์ร้อยกรองอีสานประเภทกลอนลำทั้ง กลอน 9 และกลอน 7-11 คำปนกัน คำประพันธ์ทั้ง 2 ชนิดนี้ ชาวอีสานได้ยินได้ฟัง และได้อ่านเป็นประจำ จึงเข้าใจเป็นอย่างดี ประกอบกับจำนวนคำที่พอเหมาะจังหวะในการอ่าน การลำสม่ำเสมอ ทำให้เกิดเสียงไพเราะชวนอ่านชวนฟังเป็นอย่างยิ่ง

9.       ประเภทวรรณกรรมอีสาน

9.1      วรรณกรรมท้องถิ่นอีสานแบ่งตามประเภท
วรรณกรรมท้องถิ่นอีสานสามารถแบ่งได้  6 ประเภท ดังนี้
9.1.1    แบ่งตามลักษณะพื้นที่
                             วรรณกรรมอีสานเป็นวรรณกรรมที่มีอยู่กับทุกจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่     จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย จังหวัดจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร และบางส่วนของ จังหวัดนคราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากบริเวณ          สี่จังหวัดนี้  มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากถิ่นอื่น คือ เป็นภาษาไทยโคราช และวัฒนธรรมเขมรส่วย

          9.1.2    แบ่งตามประเภทข้อมูล
การแบ่งตามประเภทข้อมูลสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
                             9.1.2.1 วรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นวรรณกรรมที่มิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เป็นการเล่าสืบทอดกันมาชนิดปากต่อปาก ซึ่งอาจจะออกมาในรูป ตำนาน-นิทาน ภาษิต ปริศนาคำทาน การแหล่ขวัญ ผญา ความเชื่อ บทเพลงพื้นบ้าน และมุขตลกต่าง ๆ ที่เล่าขานกันในกลุ่ม ปัจจุบันวรรณกรรมมุขปาฐะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ วิชาคติชนวิทยา (folk lore)
                    9.1.2.2 วรรณกรรมลายลักษณ์อักษร หรือเรียกว่า วรรณกรรมลายลักษณ์ เป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นหรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรูปใดหรือจุดมุ่งหมายใดจึงเป็นวรรณกรรมที่มีความหมายกว้างที่สุดหากแต่งดีจะได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณคดี
9.1.3    แบ่งตามลักษณะคำประพันธ์
          ลักษณะคำประพันธ์ของภาคอีสานมี 4 ประเภท คือ โคง กาพย์ กลอนลำ และฮ่าย
9.1.4    แบ่งตามจุดมุ่งหมายการแต่ง
                    การแบ่งตามจุดมุ่งหมายของการแต่งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
                             9.1.4.1 แต่งเพื่อใช้เทศน์ ในภาคอีสานมีการนำวรรณกรรมท้องถิ่นมาเทศน์ให้อุบาสกอุบาสิกาฟังในพิธีกรรมศาสนา เช่น งานบุญข้าวสาก งานออกพรรษา ซึ่งเรื่องที่เทศน์ได้แก่เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เสียวสวาด เพื่อเทศน์สอนจริยธรรม และให้ความบันเทิงใจ
                             9.1.4.2 แต่งเพื่อให้เกิดความรู้ ตำราที่บันทึกในพับสา หนังสือบุด หรือหนังผูก ใช้ประกอบในการค้นคว้าวิชาความรู้ต่าง ๆ ของคนในสมัยก่อนที่การพิมพ์ยังไม่ก้าวหน้าดังปัจจุบัน เช่น ตำรายา บทสูดขวัญ ซึ่งรวมเรียกว่า หนังสือเวียก
                             9.1.4.3 แต่งเพื่อใช้อ่านให้ความบันเทิง นอกจากนำวรรณกรรมมาใช้เทศน์แล้วยังมีการอ่านหนังสือผูกอีกลักษณะหนึ่ง คือ อ่านในโอกาสงานศพ (งันเฮือนดี) และงานฉลองการอยู่ไฟที่เรียกว่า งันกรรม เป็นการอ่านเพื่อความสนุกสนาน ให้ผู้มาช่วยงานฟังในหนังสือประเพณีไทยอีสานบางเรื่อง เช่น กาฬะเกษ    สังข์ศิลป์ชัย สุริยวงศ์ เป็นต้น
9.1.5    แบ่งตามลักษณะสำคัญของเนื้อเรื่อง
                    9.1.5.1 เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อเรื่องมีจุดสนใจอยู่ที่การกระทำของตัวละคร และสิ่งแวดล้อมตัวละคร เช่น นกกระจอก ท้าวก่ำกาดำ นางแตงอ่อน จำปาสี่ต้น ฯลฯ
                    9.1.5.2 เป็นวรรณกรรมที่มีจุดสนใจของเรื่องอยู่ที่ความคิดเห็นหรือแนวคิดของผู้แต่งซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้แต่งเอง เช่น ท้าวคำสอน อินทะญาณสอนลูก กาพย์ปู่สอนหลาน กาพย์พระมุนี ฯลฯ
          9.1.6    แบ่งตามประเภทเนื้อหา การจัดแบ่งประเภทเนื้อหาวรรณกรรมท้องถิ่นอาจจัดแยกได้หลายลักษณะ เช่น วรรณกรรมตำนาน และประวัติศาสตร์ วรรณกรรมนิทาน วรรณกรรมศาสนา วรรณกรรมคำสอน วรรณกรรมพิธีกรรม วรรณกรรมนิราศ เป็นต้น
9.2      ลักษณะวรรณกรรมอีสาน
                   เนื่องจากวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน มีลักษณะร่วมของกลุ่มชนไทยที่สืบทอดวัฒนธรรม         ลุ่มน้ำโขง จึงมีรูปแบบ ภาษา เนื้อหา ความเชื่อและทัศนะต่อสังคมเฉพาะตัว อาจแยกกล่าวได้ ต่อไปนี้
                   9.2.1    รูปแบบคำประพันธ์ คำประพันธ์อีสานนิยมแต่งด้วยโคลงสาร กาพย์ และร่าย ส่วนใหญ่นิยมแต่งด้วยโคลงสาร เพราะเหมาะแก่การอ่านทำนองลำ ส่วนร่ายมักปรากฏในวรรณกรรมมุขปาฐะ เช่น คำสู่ขวัญ ในบานศรีสู่ขวัญ
          9.2.2    ภาษาที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร จะใช้อักษรตัวธรรมและอักษรไทยน้อย ส่วนการเล่าเรื่องราวใช้ภาษาถิ่นอีสาน
                   9.2.2.1 อักษรตัวธรรม เป็นอักษรที่มีรูปแบบกลมมนคล้ายตัวอักษรมอญหรืออักษรพื้นเมืองภาคเหนือหรืออักษรล้านนาไทยหรืออักษรยวน อักขรวิธีอักษรตัวธรรมจะคล้ายคลึงอักขรวิธีของอักษรขอม วรรณกรรมที่นิยมใช้อักษรตัวธรรมบันทึก คือ วรรณกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาและคดีธรรมต่าง ๆ เช่น ตำราวิชาการสำคัญ เรื่องราวเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและชาดก
                   9.2.2.2 อักษรไทยน้อย มีรูปอักษรคล้ายอักษรไทยและอักษรลาวรวมกัน คือตัวอักษรส่วนใหญ่ เหมือนอักษรไทยปัจจุบัน แต่อักขรวิธีต่างกัน วรรณกรรมที่นิยมใช้อักษรไทยน้อยบันทึกเป็นวรรณกรรมนิทานหรือบันทึกเรื่องราวทั่ว ๆ ไป ทางคดีโลก
                    9.2.3    เนื้อหา หรือเนื้อเรื่องของวรรณกรรมอีสานส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาจึงปรากฏนิทานสอนคติธรรมเรื่องประเภทชาดกอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ
                             9.2.3.1 วรรณกรรมประวัติศาสตร์ เป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้น โดยใช้โครงเรื่องจากตำนาน เกร็ดพงศาวดารต่าง ๆ ลักษณะการเขียนจึงเป็นไปในแนวบันทึกเหตุการณ์ เล่าเรื่องราวชีวิตบุคคล แสดงความชื่นชมวีรกรรมของบรรพบุรุษ และภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดต้นฉบับวรรณกรรมประเภทนี้ไม่ปรากฏแพร่หลายหรือนิยมอ่านกันมากนัก เช่น
                                       ท้าวฮุ่งหรือเจือง เป็นเรื่องราวนักรบไทยลุ่มน้ำโขง มีความสามารถขยายอณาเขตของกลุ่มชนชาติไทยได้กว้างขวาง เป็นที่ยอมรับของชนกลุ่มอื่น
                                       พื้นเวียง เป็นบันทึกเหตุการณ์สมัยราชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ ในทัศนะของชาวอีสาน
                                       ตำนานพระพุทธรูป ต่าง ๆ เช่น พื้นพระบาง พื้นพระแก้ว
                             9.2.3.2 วรรณกรรมนิทาน เป็นเรื่องเล่าที่มีเนื้อหาสนุกสนาน ให้ความบันเทิงใจให้แง่คิดเชิงอบรมสั่งสอนหรืออธิบายเหตุผล ในสิ่งที่สงสัยข้องใจ ด้วยคุณประโยชน์เช่นนี้ จึงมีผู้นำนิทานมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนมาร้อยกรอง และจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเก็บไว้เป็นหลักฐาน สำหรับอ่านสู่กันฟังในงานบุญต่าง ๆ หรือนำมาเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง เช่น นางผมหอม กาฬะเกษ จำปาสี่ต้น กำพร้าผีน้อย
                   9.2.3.3 วรรณกรรมคำสอน เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเชิงอบรมสั่งสอนให้แง่คิดแก่ผู้อ่าน ผู้ฟังเป็นสำคัญ มีทั้งเนื้อหาแบบเทศนาโวหาร แบบสุภาษิต และนิทาน มีวรรณกรรมเป็นจำนวนมาก     ที่สอนแนวปฏิบัติ โดยยึดคตินิยมทางพุทธ ผสมผสานกับความเชื่อเรื่องวิญญาณ ตัวอย่างวรรณกรรมคำสอน เช่น ย่าสอนหลาน กาละนับมื้อส่วย สิริจันโทวาท คำสอน อินทิญาณสอนลูก
                   9.2.3.4 วรรณกรรมศาสนา เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น เรื่องชาดก ตำนานพุทธศาสนา พุทธประวัติ และประวัติพระสาวก ระเบียบประเพณี และพิธีการต่าง ๆ ทางศาสนา จัดแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
                             1) วรรณกรรมชาดก คือ วรรณกรรมที่มีเรื่องราวปรากฏในบาตชาดกของพุทธศาสนา เช่น เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก เสียวสาว ท้าวสีทน
                             2) วรรณกรรมตำนานพุทธศาสนา ได้แก่ เรื่องราวของการสืบศาสนาประวัติ ปูชนียสถาน มีลักษณะการเขียนแบบวรรณกรรม เช่น เรื่อง เชตุพน พระเจ้าเลียบโลก อุรังคนิทาน หรือตำนานการสร้างพระธาตุพนม  (รำเพย ไชยสินธุ์,  2553)

9.2.4    โครงเรื่องและแก่นเรื่อง
                   9.2.4.1 โครงเรื่อง ของวรรณกรรมอีสาน มักเป็นนิทานพื้นบ้านโลดโผน คล้ายเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ และยกให้เป็นชาติหนึ่งของพระโพธิ์สัตย์ เรียกว่า มีลักษณะ พุทธศาสนนิยม
                             วรรณกรรมร้อยกรองอีสาน มักมีโครงเรื่องแสดงเรื่องราวชีวิตบุคคลที่ต้องผจญภัยหรือแสดงความสามารถให้ปรากฏวรรณกรรมนิทานและวรรณกรรมศาสนา นิยมใช้โครงเรื่องลักษณะนี้ ส่วนโครงเรื่องอีกลักษณะหนึ่ง คือ แสดงชีวิตรักของหนุ่มสาวใช้ปัญญารักสามเส้า และความรักขัดต่อประเพณีเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง เช่น ผาแดง-นางไอ่ ฟ้าแดด-สงยาง
                   9.2.4.2 แก่นเรื่อง หรือ ความคิดสำคัญของเรื่องที่ปรากฏในลักษณะแสดงปรัชญาชีวิตของสังคมชนบทอีสาน คือ ชี้ให้เห็นกฎแห่งกรรมที่ตัวเอกต้องพลัดพรากเกิดทุกข์ เช่น เรื่องกาฬะเกษ สังข์ศิลป์ชัย และแก่นเรื่องอีกส่วนหนึ่ง แสดงความนิยมยกย่องบุคคลที่มีคุณธรรมสูง เช่น เรื่องพญาคันคาก

          คนอีสานนิยมแต่งเรื่องราววรรณคดีของตัวเองไว้มากมาย และโยงเรื่องราวเหล่านั้นเข้าสู่พระพุทธศาสนา หรือบางทีก็หยิบมาจากปัญญาสชาดก หรือพระเจ้า 50 ชาติ เอามาแต่งเป็นนิทาน และท้ายสุดของวรรณคดีนั้น ๆ จะมีการสรุปหรือม้วนชาดให้เห็นว่า ใครในอดีตชาติได้กลับมาเกิดเป็นใครในปัจจุบัน เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจารึกไว้ในใบลานแล้ว ยังนำไปเขียนเป็นจิตรกรรมตามผนังโบสถ์ในอีสาน วรรณคดีเรื่องสำคัญ ๆ ที่นักปราชญ์อีสานศึกษาค้นคว้าไว้นั้นได้แก่ (อุดม บัวศรี,  2546)

1.
ท้าวฮุ่งท้าวเจือง
34.
ท้าวโจรโต
67.
ทรายทองหนองหาญ
2.
พระลักษณ์พระราม
35.
ผาดางคำอ่าง
68.
หินแตก
3.
เวสสันดรชาดก
36.
นางแตงอ่อน
69.
หอมฮู
4.
กาฬเกษ
37.
ท้าวอุ่นหล้างัวทอง
70.
พระกึดพระพาน
5.
สินไซย หรือสังข์ศิลป์ชัย
38.
นางอรพิมพ์
71.
พระธรรมพันชาติ
6.
ท้าวลิ้นทอง
39.
สุพรหมโมกขา
72.
ท้าวคดท้าวซื่อ
7.
ผาแดงนางไอ่
40.
ตักแตนโมคำ
73.
บักคูบักอีต้า
8.
ท้าวกาดำ
41.
ปลาบู่ทอง
74.
สุดคึดสุดอ่าว
9.
เสียวสวาสดิ์
42.
นกเต็นด่อน
75.
พื้นเมือง
10.
ปฐมกัป
43.
ชนะฉันทะ
76.
สำเภาหลงเกาะ
11.
ปฐมปันนา
44.
ธรรมดาสอนโลก
77.
ท้าวปัญญาทั้ง5
12.
จำปาสี่ต้น
45.
คดีโลกคดีธรรม
78.
ลำเอี่ยนด่อน
13.
สุริวงศ์
46.
ท้าวหลิ่น
79.
ฮีตสิบสองคองสิบสี่
14.
หงส์เหิน
47.
ท้าวจันฑฆาต
80.
ท้าวกุ้นดุ้น
15.
ท้าวหมาหยุย
48.
ท้าวจันทโครพ
81.
ลำวงศยมาศ
16.
ไก่แก้ว
49.
ท้าวคัชนาม
82
กำพร้าขนเป็ด
17.
หน้าผากไกลกะด้น
50.
นางอรุณวดี
83.
นางสุพัตรากู้ศาสนา
18.
กำพร้าไก่แก้ว
51.
ท้าวค่อมเบี้ย
84.
นางหล้าทุคคตา
19.
นรพันธะ
52.
ท้าวสุวรรณหงส์
85.
น้ำเต้าปุ้ง
20.
เกสรดอกบัว
53.
ท้าวสุวรรณจักร
86.
โลกหมากมูล
21.
ท้าวโสวัฒน์
54.
พญาคันคาก
87.
น้ำแฮ้งค่อน
22.
ขูลูนางอั้ว
55.
สร้อยสายคำ
88.
จันทรสมุทร
23.
ขุนทึงขุนเทือง
56.
แม่นางโภสพ
89.
บั้งจุ้ม
24.
นางผมหอม
57.
กาเผือก
90.
นกกระจอก
25.
นางสิบสอง
58.
ท้าวกำพร้าหมากส้าน
91.
ท้าวคำสอน
26.
ศรีทน
59.
ท้าวเห็นอ้ม
92.
พญาคำกองสอนไพร่
27.
ท้าวข้อหล่อ
60.
พื้นเวียง
93.
ปลาแดกปลาสมอ
28.
ท้าวแบ้
61.
นกยูงทอง
94.
ลึบสูญ
29.
ท้าวกำพร้าผีน้อย
62.
ท้าวหมาสวง
95.
ฟ้าแดดสูงยาง
30.
ท้าวหมอนแป
63.
นกกระสาเผือก


31.
เชียงเมี่ยง
64.
เสื้อเน่า


32.
สุวรรณสังขาร
65.
โลกประทีป


33.
ท้าวเต่าดำ
66.
สังขทัต





10.     ปัญหาของวรรณกรรม (การสูญเสีย การทำลาย การไม่เห็นคุณค่า)

4.1      การสูญเสีย
          4.1.1    ขาดการทำความเข้าใจในเรื่องของวรรณกรรม  ผู้ที่สนใจศึกษาไม่ทำความเข้าใจในการนำวรรณกรรมต้นฉบับไปใช้งาน โดยการเปลี่ยนแปลงสำนวนเนื้อหาของต้นฉบับเดิมด้วยอารมณ์และความรู้สึกของตนเองทำให้สำนวนเนื้อหาของวรรณกรรมนั้นสูญหายไปเรื่อย ๆ
          4.1.2    ขาดการเก็บรวบรวมไว้ในที่ปลอดภัย เช่น วรรณกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ตามวัดวาอาราม ผู้ที่อยู่ในวัดอาจจะละเลยไม่ได้สนใจเวลามีการเปลี่ยนแปลงก่อสร้างวัดใหม่ก็อาจมีการทิ้งวรรณกรรมเหล่านี้ไป ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ไม่มีประโยชน์ และรกเกะกะ

                    4.1.3    ขาดผู้สืบทอด และต่อยอดที่ให้ความสนใจอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันนี้หน่วยงานของภาครัฐได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 27 ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติ แต่กลับเป็นว่าสถาบันการศึกษาขาดผู้ที่ถ่ายเรื่องของวรรณกรรมท้องถิ่น ผู้เรียนจึงไม่ได้เรียนเรื่องของวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างจริงจัง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้วรรณกรรมท้องถิ่นสูญหายไปก็เป็นได้

          4.1.3    ยกเลิกคำว่า ลาว พ.ศ. 2442 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) ได้มีพระบรมราชโองการในการเปลี่ยนแปลงให้ทุกหัวเมืองใน มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ การกรอกข้อมูลสำมะโนครัวในช่องสัญชาติ ว่า ชาติไทยบังคับสยามทั้งหมด ห้ามมิให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ผู้ไท ฯลฯ โดยเด็ดขาด ซึ่งนับแต่นั้นมากระบวนการเรียนการสอนของภาคอีสานก็ได้รับอิทธิพลของภาษาไทยของภาคกลางมาตั้งแต่บัดนั้น ด้วยระบบการศึกษานี้ทำให้ภาคอีสานต้องเรียนภาษากลาง ทำให้ภาษาไทยน้อย และภาษาธรรมค่อย ๆ เลือนลางจางหายไป

4.2      การทำลาย
          4.2.1    การเปลี่ยนของโลกยุคโลกาภิวัตน์ เช่น ใน ยุคมืด (พ.ศ.2501-2506)
บทกวีของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ปัญหาในการวิพากษ์วิจารณ์มักเป็นเรื่องรูปแบบ  วงนักกลอนต่าง ๆ กล่าวหาว่าอังคารเขียนร้อยกรอง ไม่ถูกฉันทลักษณ์ ซึ่งข้อนี้กลับเป็นใบเบิกทางให้แก่นักกลอนรุ่นใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดในด้านรูปแบบนักมาจนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจทำลายรูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นไปจดหมด การกระทำเช่นนี้เข้าข่าย เป็นการทำลายวรรณกรรมท้องถิ่นทางอ้อม ด้วยเช่นกัน
          4.2.2    ทำลายด้วยวิธีการ เจตนาไม่สืบสานต่อเพราะเห็นว่าวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้ล้าลัง เช่น หนังสือวรรณคดีเก่าหลายเล่มถูกประณามหยามเหยียด เช่น อิเหนา ลิลิตพระลอ ฯลฯ เพราะเนื้อหาและแนวคิดไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน นี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมจะค่อย ๆ เลือนลางหายไป เพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจว่าวรรณกรรมในอดีตจะสะท้อนภาพของยุคสมัยของมันเองเท่านั้น มิใช่สะท้อนภาพของอนาคต

4.3      การไม่เห็นคุณค่า
          4.3.1    ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวัฒนธรรมปล่อยปะละเลย ในด้านภาษาถิ่นอีสานของตนเองอย่างจริงจัง  
          4.3.2    รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมามากจนลืมรากเหง้า ภาษาและวรรณกรรมของตนเอง        

11.      แนวทางการแก้ไขปัญหาวรรณกรรม

11.1    อนุรักษ์
          11.1.1  ในฐานะที่วรรณกรรมพื้นบ้านมีลักษณะสำคัญ คือ ความเป็นมุขปาฐะ และวรรณกรรมลายลักษณ์ก็คือ การบันทึกส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมุขปาฐะ ทั้งวรรณกรรมที่เขียนขึ้นใหม่ก็มีต้นเค้ามาจากวรรณกรรมมุขปาฐะนั้นเอง จึงต้องมีวิธีการที่จะทำให้วรรณกรรมมุขปาฐะนี้คงอยู่ในความทรงจำของคนให้มากที่สุด และยืนนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการที่ธรรมดาสามัญที่สุด ก็คือ การซ้ำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่าเรื่องและการขับบทกวี ผู้เล่าอาจจะเล่าซ้ำเรื่องเดิม บทเดิม โดยไม่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่นการเล่านิทานถึงตอนที่พระเอกเผชิญหน้ากับศัตรู อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทพรรณนานาถึงความหวาดเกรงของศัตรูคู่ต่อสู้ หรือเพิ่มเติมถ้อยคำและรายละเอียดให้มากขึ้นเพื่อให้ดูสมเหตุสมผลว่า พระเอกเป็นคนเก่งจริง ๆ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ก็คือการนำเรื่องไปสู่จุดสุดยอด และพระเอกก็จะได้ชัยชนะหรือประสบความสำเร็จอยู่เสมอ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่อง แต่การเล่าซ้ำในเนื้อเรื่องอันยืดนานนี้จะทำให้ผู้เล่านิทานหรือผู้ขับบทกวีมีโอกาสแสดงออกซึ่งศิลปะในการเล่าหรือขับร้องของเขาได้มากที่สุดเท่าที่เขาต้องการ
                   11.1.2  ศึกษาค้นคว้า วิจัย ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในรากเหง้าพื้นเพของภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านวรรณกรรมอย่างแท้จริงต่อไป

11.2    ฟื้นฟู
          11.2.1  นักวิชาการของอีสาน ควรริเริ่มลงมือปริวัตร ผลิตเอกสารทางด้านวรรณกรรมให้มีความแพร่หลายสู่สาธารณชนมากขึ้น
          11.2.2  ควรใช้สื่อมวลชนทุกสาขาให้เป็นประโยชน์ เพราะปัจจุบันนี้บรรดาสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็พร้อมที่จะอ้าแขนรับงานด้านนี้อยู่แล้ว เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลโดยสื่อมวลชน ทำให้ข่าวเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นได้แพร่หลายเป็นที่สนใจของผู้คนทุกชาติทุกภาษา หรืออาจเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

11.3    ส่งเสริม
                   11.3.1  ศิลปวัฒนธรรมชาติ จะมีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์ของชาติ การเปลี่ยนแปลงที่วัฒนธรรมเป็นห่วงมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง ไร้สำนึก ไร้การศึกษา และคัดเลือกว่าอะไรดี อะไรชั่ว และในวันข้างหน้าอาจทำให้วัฒนธรรมของชาติเกิดวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายขึ้นก็เป็นไปได้ ดังนั้นประเทศไทยควรเพิ่มความตระหนักให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการส่งเสริมทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะ เรื่องของ วรรณกรรมของชุมชน ของภาค ของประเทศ ให้มีจุดยืนที่เข้มเข็ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วย
                   1. กรมศิลปากร
                   2. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
                   3. กรมศาสนา
                   4. คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ
                   5. สถาบันการศึกษาต่าง ๆ
                   6. กระทรวงวัฒนธรรม
                   สถาบันต่าง ๆ เหล่านี้ ควรจะได้หาทางประสานงานกัน เพื่อวางแนวทางในการส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรมท้องถิ่น ให้เด่นชัดมากขึ้นกว่านี้
          11.3.2  ควรเร่งเร้าให้ประชาชนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านวรรณกรรมของตนเอง และสามารถใช้วัฒนธรรมนี้ให้เข้าถึงประชาชนทุกคน และแต่ละจังหวัดควรประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นของตนเองด้วย การส่งเสริมดังกล่าวจะทำให้เกิดความแพร่หลายในด้านค่านิยม ทำให้คนในท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากการเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเอง เช่น ให้คนในชุมชนหารายได้ด้วยการร้องหมอลำ โดยการนำวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น ท้าวขูลูนางอั้วมาเป็นบทในการแสด ให้หมอลำได้ลำ เช่นนี้ก็จะช่วยให้คนในท้องถิ่นเกิดรายได้และอนุรักษ์ วรรณกรรมไปด้วย
            11.3.3 สถาบันการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชนทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ควรส่งเสริมให้นักศึกษา และนักวิจัยจัดทำวิจัยในด้านวรรณกรรมท้องถิ่น แล้วนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ในการทำนุบำรุงการศึกษาทางภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรด้านวรรณกรรม เช่น หลักสูตรหมอลำ ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาภูมิปัญญาไทย และใช้เป็นเอกสารประกอบการ อบรมและสัมมนา
                   11.3.4  ควรส่งเสริมผู้ที่สนใจในการประพันธ์บทกลอน เช่น บทกลอนลำ ให้เข้าใจในเรื่องของรูปแบบฉันทลักษณ์ และการเลือกใช้ภาษาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อทำให้บทกลอนลำที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคุณภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ
12.     ตัวอย่างวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานที่นำมาศึกษา เรื่องท้าวขูลู นางอั้ว


       

สมุดบันทึกกลอนลำเรื่องต่อกลอน เรื่องขูลูนางอั้ว ตอน นางอั้วเกี้ยวกับพระเอก ซึ่งเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ ไม่ปรากฏ ปี พ.ศ. ผู้ศึกษาได้พบสมุดเล่มนี้ที่ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          วรรณกรรมร้อยกรองอีสานที่ผู้ศึกษาได้นำมาศึกษานี้ อยู่ในวรรณกรรมประเภทนิทาน
เรื่อง ขูลู นางอั้ว จากหนังสือวรรณกรรมภาคอีสานของ ศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก (2537 หน้า 194-203)

หนังสือวรรณกรรมอีสาน ของศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2537

การที่ผู้ศึกษาได้นำเรื่องท้าวขูลู นางอั้ว มาเป็นตัวอย่างในการศึกษานี้ มีเหตุผลว่าเรื่องท้าวขูลู นางอั้วเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านเฉพาะท้องถิ่นอีสาน ไม่ปรากฏว่ามีเนื้อเรื่องทำนองเดียวกันในภาคอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นโครงเรื่องที่กวีอีสานประพันธ์ขึ้นมาเอง หรือ เป็นเรื่องพื้นบ้านที่เล่าสืบกันมาแล้ว กวีได้ประพันธ์เป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดก็ คือ การปิดเรื่องนั้นผิดแนวกับวรรณกรรมพื้นบ้านของไทยเรื่องอื่น ๆ ที่นิยมจบด้วยความสุข ความสมสุขของตัวละครตัวเอกของเรื่อง แต่เรื่องท้าวขูลู นางอั้วนี้ จบเรื่องด้วยความโศกสลด คือ ทั้งท้าวขูลู นางอั้ว และขุนลางต่างก็ฆ่าตัวตาย เพราะไม่สมรักทั้งสามคน ซึ่งไม่ปรากฏว่านิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องใดนอกจากเรื่อง พระลอ ที่จะจบเช่นนี้
          นอกจากนี้ ชาวอีสานเองต่างก็จดจำเรื่องท้าวขูลู นางอั้วกันได้ดีทุกคน และนำมาเล่าให้ลูกหลายฟังกันในครัวเรือนเสมอมา จึงพบว่าชาวอีสานรุ่นใหม่ยังรู้เรื่องท้าวขูลู นางอั้วได้ดีเป็นส่วนใหญ่เรื่องท้าวขูลูนางอั้วนี้เป็นเรื่องแพร่หลายในภาคอีสาน นั่นคือ ชาวอีสานทุกจังหวัดจะรู้เรื่องท้าวขูลู นางอั้วอย่างกว้างขวางบางท้องถิ่นยังอธิบายถึงความสมจริงของเรื่องว่า ท้าวขูลูและนางอั้วเมื่อตายไปแล้วเกิดเป็นพันธุ์ไม้และแมลง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะพบคู่กันเสมอในป่าค่อนข้างชื้นจะพบดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งดอกสีชมพูเรียกชื่อว่า ดอกนางอั้ว และที่ดอกนั้น จะมีแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งสีดำชาวบ้านเรียกชื่อว่า แมงขูลู ซึ่งต่างก็เล่าว่าเป็นผลมาจากเรื่องท้าวขูลู นางอั้ว แสดงให้เห็นว่าชาวอีสานมีความฝังใจต่อเรื่องท้าวขูลู นางอั้ว อย่างมากจนนำชื่อมาเรียกดอกไม้และแมลงดังกล่าว เป็นต้น
          ธรรมเนียมการประพันธ์ ดำเนินเรื่องแบบนิทานชาดกประพันธ์เป็นโครงสาร และตอนต้นเรื่องยังได้เน้นว่าเป็นชาดก (บัดนี้ข้าจักนับชาติท้าว ปางก่อนทัวระมาน ก่อนแล้ว ปางเมื่อสัพพัญญูเทียวสงสารเกิดเป็นเวรฮ้าย) และตอนจบเรื่องยังมีประชุมชาดกอีกด้วย

13.1    ต้นฉบับ
                    นายปรีชา พิณทอง ได้ถอดจากอักษรตัวธรรมมาเป็นอักษรไทย พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2524 ในคำนำกล่าวว่า ได้ต้นฉบับใบลานมาจากวัด น้ำคำแดง ต. เตย อ. ม่วงสามสิบ จ. อุบลราชธานี เป็นอักษรตัวธรรม  4 ผูก (จบเรื่อง) จากการพิจารณาต้นฉบับและอักษรตัวธรรมแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นต้นฉบับที่ใช้เทศน์ แม้ว่าเนื้อเรื่องจะเป็นนิทานประโลมโลกก็ตาม แต่กวีได้เน้นไว้ตอนท้ายเรื่องอีกว่าเป็นชาดก (อันนี้ นิทานเจ้า       องค์พุทธโธลงโลก เพิ่นหากสอนสั่งไว้ ในหั้นซูอัน นัตถีบั้น นิทานธรรมสอนสั่งแล้วท่อนี้ ถวายไว้ที่สูงก่อนแล้ว)
13.2    เนื้อเรื่องย่อ
                    เริ่มต้นกล่าวประณามพจน์ แล้วเกริ่นปรารภชาดกเล็กน้อยว่า พระสัพพัญญูปางเมื่อต้องทรมานใช้ชาติได้เกิดเป็นท้าวขูลูโอรสเจ้าเมืองกาสี และนางอั้วเคียมเกิดเป็นธิดาเจ้าเมืองกายนคร ทั้งสองเมืองมีความสัมพันธ์อันดี ทั้งเจ้าเมืองและพระมเหสีต่างก็เป็นเพื่อนเสี่ยวซึ่งกันและกัน และเคยให้คำมั่นกันไว้ว่า ถ้ามีลูกชายลูกสาวฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยกให้อภิเษกสมรสกัน ทั้งท้าวขูลูและนางอั้วเคียมเกิดปีเดียวกัน เมื่อเจริญเติบโตนางอั้วเคียมมีความงดงามมาก เล่าลือไปถึงเมืองขุนลางซึ่งเป็นขอมภูเขาก่ำ (เขมรป่าดงหรือชาวข่าสักขาลายสีดำ) ยังอธิบายต่อไปว่าเป็นชนเผ่าที่ยังไม่เจริญล่าสัตว์ป่ามาถวายเจ้าเมืองกายนคร เมื่อท้าวขูลูเจริญวัยอยากมีคู่ครอง จึงลามารดามาเที่ยวเมืองกายนคร ได้นำเครื่องบรรณาการมาเยี่ยมเจ้าเมืองด้วย ท้าวขูลูได้พบนางอั้วเคียมมีจิตใจ ปฏิพันธ์ซึ่งกันและกัน ท้าวขูลูประทับอยู่เมืองกายนครระยะหนึ่ง จึงขอลานางอั้วเคียมกับเมือง เพื่อจะส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอภายหลัง
                    ขุนลางหัวหน้าฝ่ายชนภูเขาได้ส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอนางอั้วเคี่ยม พระมารดานางอั้วเคี่ยมได้รับปากเพราะนางนั้นไม่พอใจมารดาท้าวขูลู ซึ่งเป็นเพื่อนเสี่ยวกันเมื่อครั้งตอนนางตั้งครรภ์นางอั้วเคี่ยมนางได้ไปเที่ยวสวนอุทยานของเมืองกาสี ครั้นเห็นส้มเกลี้ยงในสวนอุทยานนางก็มีความยากกินตามประสาคนแพ้ท้อง แต่มารดาท้าวขูลูไม่ให้ อ้างว่าส้มเกลี้ยงยังไม่สุกดีนางน้อยใจและด้วยความโกรธจึงตัดขาดจากความเป็นเพื่อนเสี่ยวกัน นางอั้วเคี่ยมเมื่อทราบว่ามารดารับปากการสู่ขอของขุนลาง นางก็เสียใจและไม่ยอมรับ นางกล่าวว่าขุนลางเป็นคนนอกศาสนา ไม่นับถือพระธรรม (เรานี้แนวนามเชื่อกุลวงศ์พระยาใหญ่ ฤาจักเทียมแทบข่า ขอมร้ายอยู่ดง นั้นเด เขานั้นศีลธรรมบ่มีสังจักสิ่ง มีแต่เสพเหล้า บ่มีเอื้ออ่าวทาน แม่เอ่ย) แต่ในที่สุดมารดาก็สั่งแม่สื่อไปว่ายอมรับคำสู่ของของขุนลาง นางอั้วเคี่ยม ไม่ยินยอมนั้นนางจะช่วยปลอบโลมภายหลัง
                    ฝ่ายท้าวขูลูได้บอกพระราชบิดามารดามาสู่ขอนางอั้วเคี่ยม ครั้นแม่สื่อของขูลูนำสินสอดมาสู่ขอครั้งแรกมารดานางอั้วเคี่ยมไม่ยอมตกลง อ้างว่าได้ตกลงกับฝ่ายขุนลางไว้ก่อนแล้ว ท้าวขูลูขอให้พระราชบิดาส่งแม่สื่อมาขอนางอั้วเคี่ยมอีกครั้งหนึ่ง และได้อ้างถึงคำพูดที่เคยตกลงกันเมื่อสมัยเป็นเพื่อนเสี่ยวกัน คราวนี้พระมารดาท้าวขูลูมาด้วย และได้พูดทวงคำมั่นที่เคยว่าจะให้บุตร-ธิดาอภิเษกสมรสกัน แต่มารดานางอั้วเคี่ยมได้กล่าวถึงความโกรธเมื่อครั้งที่ตนขอส้มเกลี้ยงคราวนั้น จึงขอคืนคำมั่นทั้งหมด ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะทำพิธีเสี่ยงสายแนน คือ เชื่อกันว่าทุกคนจะมีสายรกพัวพันกันอยู่บนเมืองแถนก่อนมาเกิดและคนเราต้องเป็นไปตามสายแนน นั้น ๆ เช่น มักจะมีคำกล่าวว่า คู่จากแถนแนนจากฟ้า ถ้าแต่งงานกันผิดสายแนนจะต้องอย่าร้างกัน ฉะนั้น เพื่อจะดูว่าทั้งสองเป็นคู่กันหรือไม่ ต้องทำพิธีเสี่ยงสายแนน คือ ให้คนทรงทำพิธีเซ่นพระยาแถนและได้นำของไปถวายพระยาแถนน เพื่อขอดูสวนกกแนนของท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม พบว่า สายแนนทั้งสองพันกันอยู่แต่ตอนปลายยอดด้วนและปลายแยกออกจากกัน ซึ่งแสดงว่าเป็นเนื้อคู่กันแต่อยู่กันไม่ยืดต้องมีการพลัดพรากจากกันนอกจากนี้ ยังพบว่า สายแนนของท้าวขูลูมีแท่นทองอยู่ด้วยซึ่งแสดงว่าเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อแม่สูญ (นางทรงหรือนางเทียม) กลับมาได้แจ้งว่าทั้งสองมีสายแนนเป็นเนื้อคู่กัน แต่ต้องตายจากกันทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันได้บางส่วน นั่นคือ มารดาท้าวขูลูจะส่งขันหมากมาสู่ขออีกครั้งหนึ่ง แต่ฝ่ายมารดานางอั่วเคี่ยมยังกังวลใจว่าได้รับหมั้นฝ่ายขุนลางแล้ว ในที่สุฝ่ายเมืองกาสีจึงลากลับเมือง
                    ฝ่ายมารดานางอั่วเคี่ยมทราบว่าธิดาตนได้ลักลอบพบกับท้าวขูลูที่สวนอุทยาน นางโกรธมากจึงมาดาว่านางอั่วเคี่ยมไปเล่นชู้ ไม่รักนวลสงวนตัวเสียพงศ์เผ่าพระยา นางเสียใจมากจึงคิดผูกคอตนเองตาย ก่อนตายกวีได้พรรณนาความในใจของนางอั่วเคี่ยมที่ยังอาลัยอาวรณ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยเฉพาะได้รำพันถึงพระคุณของมารดา รำพันล่ำลาปราสาทราชวัง ญาติวงศาและคนใกล้ชิด ในที่สุดนางก็ผูกพระศอที่สวนอุทยาน ความทราบถึงเจ้าเมืองและพระมารดาต่างก็เสียพระทัย และนำพระศพเข้าเข้าเมืองบำเพ็ญกุศล ขุนลางก็ถูกธรณีสูบในคราวเดียวกันด้วย
                    ท้าวขูลูทราบการตายของนางอั่วเคี่ยมท้าวขูลูเสียใจมากเกิดคลุ้มคลั่งไม่เป็นอันกินอันนอนประจวบกับผีตายโหงเข้าสิงจึงคว้ามีดแทงคอตนเองตายในที่สุด ทั้งท้าวขูลูและนางอั่วเคี่ยมได้ไปเกิดบนสวรรค์ทั้งสองคน และได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง
                    กล่าวถึงฝ่ายเมืองกาสีและเมืองกายนคร จัดพิธีงานศพทั้งสองเสร็จแล้ว ก็นำมาเผาเคียงคู่กัน สร้างพระธาตุบรรจุอัฐิทั้งสองไว้ที่เดียวกัน ทั้งสองเมืองก็กลับมาสมัครสามารสามัคคีดังเดิม กล่าวถึงท้าวขูลูและนางอั่วเคี่ยมไปเกิดในเมืองสวรรค์แล้ว ได้แสดงอภินิหารให้ผู้คนชาวเมืองได้เห็น ตอนท้ายได้กล่าวประชุมชาดก เป็นอันว่าจบเรื่อง
13.3    สำนวนโวหาร
                    สำนวนโวหารโดยทั่วไปของเรื่องท้าวขูลู นางอั่วเคี่ยมถือว่าดีเยี่ยมเรื่องหนึ่ง เพราะเหตุว่าเนื้อเรื่องเป็นแนวประโลมโลก กวีสามารถสอดแทรกโวหารเชิงสังวาสได้โดยไม่ขัดเขินกับเนื้อเรื่องที่ตัวนางเอกและพระเอกรักรันทดใจตลอดเรื่อง ฉะนั้น การพรรณนาชมป่าชมดงกวีจึงมักจะชมดงเชิงรำพันเหมือนนิราศ นั่นคือ ใส่อารมณ์ของตัวละครที่ต้องพลัดพรากนาง ไปพร้อม ๆ กับการชมป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งเป็นการเน้นให้เห็นความโศกสลดระว่างตัวเอกของเรื่องที่จะต้องจากกัน และไม่สมมาตรปรารถนาในจิตเสน่หา
                    นอกจากนี้ กวียังได้แสดงฝีปากเด่น ๆ ไว้หลายตอน นั่นคือ นำเอาคำผญา หรือภาษิตพื้นบ้านมากล่าวเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องได้อย่างดียิ่ง ถ้าพิจารณาในเชิงกลอนแล้วจะเห็นว่ากวีได้เพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคอยู่เนือง ๆ แสดงให้เห็นว่ากวีผู้ประพันธ์มีทักษะในการประพันธ์สูงมากเมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                    1)       พรรณนาฉาก ในการพรรณนาฉากชมความงามของป่าดงพงพี กวีจะใส่อารมณ์ของตัวละครที่ชมป่านั้นด้วยว่ากำลังอยู่ในอารมณ์อย่างไร คือ เศร้าสลด หรือยินดี ปรีเปรม ดังตัวอย่าง ตอนที่ท้าวขูลู ลานางอั่วเคี่ยมกลับเมือง ระหว่างทางท้าวขูลูชมป่าดงพร้อมกับคำนึงถึงนางอั่วเคี่ยมว่า บัดนี้ แม่ของนางคงบังคับนางให้แต่งงานกับขุนลางนางก็ต้องแบ่งใจเป็นสอง ซึ่งเป็นหญิงมักมากถ้าเป็นเช่นนั้น ท้าวขูลูจะโกนหัวบวชจะดีกว่า  
          ดังตัวอย่างเช่น
แต่นั้น ท้าวปิ้นหน้า  เหลิงล่ำไปมา
ไพรสณฑ์สัตว์  อยู่ในดงกว้าง
ลางพ่อง วอนวอนร้อง เสียงส่งนางนี
ลางตัว  วอนผัวขวัญ  ดุ่งเดินดงกว้าง.
คันว่า  นางใจเลี้ยว สัจจังยังล่าย
หญิงใดซ้อน  สองชายมักมาก
ใต้มนุษย์โลกนี้ กูท้าวบ่เทียม ได้แล้ว
กูจัก แถหัวเข้า  ทรงศีลถือบวช
ขอจอดยั้ง  ดอมเจ้าเพิ่งรัสสี
อยู่สืบสร้าง ถ้ำใหญ่คูหา
เป็นรัสสีหลวง อยู่ในเนาในถ้ำ
                    2)       อารมณ์สะเทือนอารมณ์ โวหารที่แสดงความโกรธที่เรียกว่าพิโรธวาทังนั้น กวีได้ประพันธ์โวหารให้เข้ากับเหตุการณ์ตามท้องเรื่องอย่างดีเยี่ยม โดยนำเอาคำศัพท์ท้องถิ่นอีสานที่ชาวบ้านใช้ด่าว่ากันทั่วไปเวลาอารมณ์เสีย เช่น ตอนมารดานางอั่วเคี่ยมทราบว่านางอั่วเคี่ยมไปลอบพบกับท้าวขูลูนางโกรธมาก จึงด่าว่านางอั่วเคี่ยมซึ่งเป็นสำนวนแบบชาวบ้าน อันเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของวรรณกรรมพื้นบ้านที่ไม่ค่อยจะใส่ใจในการใช้สำนวนตามฐานะของตัวละครเท่าไร
ดังตัวอย่างเช่น
                   แต่นั้น  มารดาได้  ยินคำเอิ้นด่า
เสียงส่งเท่า นางน้อยซูอัน
โอนนอ  อั่วแม่น้ำ  เหลือถ่อยอวิสัย แท้นอ
มึงนี่  หมาเดือนเก้า เข้าเซิงบ่หาบ่อน แท้นอ
บ่ห่อนรู้ หญิงร้ายแม่ชะเล
เสียแรงเลี้ยง คนเคียวร่วมชาติ กันนี้
ลูกออกท้อง สอนรู้แรงเคียว ดังนี้
                    3)       โวหารแสดงความเศร้าสลดและโศกาดูร กวีได้รำพันให้เกิดอารมณ์เศร้าสลด สะกดอารมณ์ผู้อ่านผู้ฟัง ให้เกิดอารมณ์โศกาดูรไปกับตัวเอกของเรื่อง คือ นางอั่วเคี่ยมตอนที่นางได้รำพันร่ำลาทั้งผู้ใกล้ชิด เช่น มารดา พระญาติวงศาและนางสนม นอกจากนี้ ยังสั่งลาปราสาทราชวังสวนอุทยาน สัตว์เลี้ยง ของนางอย่างครบถ้วน การร่ำพรรณนานี้ กวีได้ใส่อารมณ์สะเทือนใจทุกคำรำพันของนาง และดูเหมือนว่า กวีมีความมุ่งหมายที่จะแสดงกวีโหวหารให้ประจักษ์ จึงให้มีเนื้อหาตอนรำพันอยู่ค่อนข้างยืดยาว ซึ่งไม่พบในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานเรื่องอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับกวีโวหารเชิงโศกาดูรมากนัก
          ในที่นี้จะยกตัวอย่างตอนนางอั่วเคี่ยมได้รำพันกล่าวอำลาเครื่องอุปโภคที่นางเคยใช้อยู่ประจำในห้องนอน ดังนี้
                    นางนาถต้าน เสียงน้อยสั่งไป
ค่อยอยู่ดีเย้อ  หอนอนแก้ว หมอนลายซ้อนเสื่อ กูเอย
กับทั้ง มุ้งม่านกั้ง  หมอนเท้าหน่วยดี พี่เอย
ค่อยอยู่ดีเย้อ ขันสลาพร้อม ซองพลูแอบหมาก กูเอย
กูจัก หนีไปตาย  ผู้เดียวอย่างเศร้า
13.4    ทัศนะต่อสังคม
                    วรรณกรรมอีสาน เรื่องท้าวขูลู นางอั้วนี้ ได้ให้ทัศนะต่อสังคมไทยในภาคอีสานตามแนวจารีตประเพณีของท้องถิ่น ประสมประสานกับแนวดำเนินตามแบบชาวพุทธ นั่นคือ ยึดถือคุณธรรมและกตัญญูต่อบุพการี   อันเป็นแก่นของเรื่องที่กวีได้แทรกไว้ในเรื่อง และ จริยวัตรของตัวละคร เช่น
                    1)       ทัศนะต่อบุพการี กวีได้เสนอให้เห็นอุปนิสัยของตัวละคร คือ นางอั่วเคี่ยมผ้ามีความกตัญญูต่อบุพการี แม้ว่านางจะไม่พึงใจที่จะสมรสกับขุนลาง แต่นางก็มิอาจจะปฏิเสธมารดาของนางได้ นางจึงหาทางออกโดยวิธีของนางเอง แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยอีสานนั้น เคร่งครัดในจารีตที่ว่า ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่และอยู่ในโอวาท แม้ว่านางคิดจะทำร้ายตนเองก็ตาม แต่นางนั้นหาได้โกรธขึงมารดาแต่อย่างไรนางยังรำพันถึงพระคุณมารดาที่เลี้ยงนางจนโต ดังปรากฏตอนที่นางตัดสินใจจะลาตาย นางยังได้ค่ำครวญถึงบุญคุณมารดา    ไว้ดังนี้
                    บัดนี้ลูกจัก ยกมือน้อม บุญคุณพระแม่
คุณชูชั้น ขอเจ้าโผดผาย แด่ท่อน..
แม่หาก ย้ำข้าวป้อน  หลายมื้อพร่ำนาน
แม่ข้า กินน้ำร้อน  ปากเปื่อยพองสุก ก็ดี
ลูกจัก ขอสมมา  หมื่นทีคุณล้ำ
                    2)       ทัศนะต่อการเป็นเนื้อคู่ของมนุษย์ มนุษย์ที่เกิดอยู่ในโลกนี้ย่อมเป็นไปตามบัญชาของแถนการจะเป็นเนื้อคู่กันย่อมกำหนดไว้แล้วบนสวรรค์นั่น คือ มนุษย์ทุกคนจะมีสายแนน (บางครั้งเรียกสายมิ่งสายแนน) ประจำตัวซึ่งมีลักษณะคล้ายไม้เครือเถาขึ้นอยู่บนสวรรค์ ถ้าเป็นเนื้อคู่กันสายแนนจะพันเกี่ยวกันอยู่ ในเรื่องท้าวขูลูนางอั้ว ได้กล่าวถึงสายแนนบนสวรรค์ของท้าวขูลู นางอั้ว ว่าได้พันเกี่ยวกันหรือไม่จึงต้องเซ่นสรวงพระยาแถนเพื่อจองดูกกแนน ของทั้งสองคน โดยมีนางทรงหรือนางเทียมทำพิธี ดังนี้
อันหนึ่ง  กกแนนเจ้า  ขูลูบาบ่าว
ทั้งอ่อนน้อย  ยังเกี้ยวกอดกัน บ่เด
แต่นั้น  แถนหลวงได้ ยินคำถวายมอบ
จัดแจงชิ้น ปันให้ซูแถน.
13.5    ทัศนะต่อปรัชญาพุทธศาสนา
                    เรื่องท้าวขูลู นางอั้ว ได้ยึดแนวหลักธรรมของศาสนาพุทธเป็นแก่นของเรื่อง และยังดำเนินเรื่องตามแนวหลักธรรมอีกด้วย เช่น พยายามอธิบายถึงกรรมชาติปางก่อนของท้าวขูลูและนางอั้วได้กระทำไว้ ชาตินี้จึงต้องใช้หนี้กรรมเวรโดยไม่สมหวังในความรัก กวีได้ย้อนเล่าอดีตชาติของท้าวขูลู ครองเมืองเบ็งซอน มีนางดอกซ้อนเป็นชายา เจ้าเมืองเบ็งซอนได้สั่งให้ผัวเมียแยกคู่กันอย่างเด็ดขาด ห้ามญาติพี่น้องคนใดชักนำมาครองคู่กันอีก จะถูกประหารทั้งโคตรเพราะนางดอกซ้อนไม่พอใจคู่ผัวเมียที่กระด้างต่อนาง นางจึงมาฟ้องเจ้าเมือง สองผัวเมียเสียใจฝ่ายหญิงผูกคอตายฝ่ายชายใช้มีดแทงคอตนเอง กรรมจึงตามมาชาตินี้ให้ทั้งสองคือท้าวขูลูและนางอั้วต้องตายจากกัน
          นอกจากนี้ ตอนท้าวขูลูลานางกลับเมืองเพื่อจะนำทัพมาชิงนางอั้วนางอั้วได้เตือนสติว่าจะเห็นเวรกรรมติดตามต่อไป ใช้หนี้กันไม่หมดสิ้น ดังนี้
ลางจัก เป็นเวรข้อง สองเฮาน้องพี่
เทียวช่วงใช้ เวรนั้นบ่เซา
ขอให้ ขันตีเยื้อน ซามเวรหายส่วง
คันเหมิดบาปแล้ว เราสิได้ร่วมกัน.
          1)       ทัศนะเรื่องกามคุณ ดูเหมือนกวีจะให้ทัศนะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงตามแนวหลักธรรมของศาสนา และยังประณามผู้หญิงหรือชายที่ไม่สำรวมในเรื่องกามคุณ นั่นคือ มักมากและคบชู้สู่สาวซึ่งก็สอดคล้องกับจารีตประเพณีของชาวอีสานที่สำรวมในเรื่องกามคุณ ไม่ประพฤติผิดศีลธรรม และมักจะประณามผู้ที่ไม่สำรวมโดยเฉพาะสตรีนั้น จะถูกสังคมประณามถ้าหากคบชู้ ซึ่งในเรื่องท้าวขูลูนางอั้วนี้ได้เน้นถึงการประพฤติตนให้มั่นคงในจารีตประเพณีและสอนให้ตระหนักถึงโทษแห่งการประพฤติผิดในกามคุณโดยมีทัศนะว่ากามเมถุนนั้นเป็นเรื่องเลวร้ายหากบุคคลไม่สำรวม ดังนี้
คันว่า กามคุณต้อง หญิงใหนั่นเปรียบ
ท่อกับ  ผีเผตร้าย เสมอด้ามดั่งเดียว แม่เฮย
อันหนึ่ง  ชายขี้เรื้อน สมเสพเทวี
กามคุณแถง ลวดลมคุณเจา
          2)       ทัศนะเกี่ยวกับเบญจศีล กวีได้อธิบายว่าการจะได้ไปเกิดในสวรรค์นั้น เพียงแต่ยึดมั่นในศีลห้าอย่างเคร่งครัดย่อมมีอานิสงส์ไปเกิดในสวรรค์ได้ เช่น ตอนที่ท้าวขูลู และนางอั้วปรากฏตนบนสวรรค์ให้ชาวเมืองดู พระมารดาถามถึงสาเหตุที่ไปเกิดในสวรรค์ ทั้งสองก็บอกว่าให้ถือศีลห้าก็เพียงพอแล้ว
อันนี้  ธรรมทั้งห้า ภาวนาอย่าได้ขาด
คันว่า  มรณาตเมี้ยน  สิเมือฟ้าสู่สวรรค์ แม่เอย
สุรานั้น อย่าเอาเทียมแทบ
ศีลห้าตั้ง รักษาไว้อย่าไล
          13.6    ทัศนะต่อชนเผ่า
          เรื่องท้าวขูลูนางอั้ว ได้แสดงให้เห็นทัศนะต่อชนเผ่าข่าคือกลุ่มขุนลาง เป็นชนชาติป่าเถื่อน ไม่ยอมรับว่ามีฐานะทางสังคมเท่ากับชนเผ่าไทย-ลาว ดังเช่นนางอั้ว ได้กล่าวถึง ขุนลาง ดังนี้
เรานี้  แนวนามเชื้อ  กุลวงศ์พระยาใหญ่
ฤาจัก  เทียบแทบข่า  ขอมร้ายอยู่ดง นั่นเด
เขานั้น ศีลธรรมเจ้า บ่มีสังจักสิ่ง
มีแต่  สมเสพเหล้า บ่มีเอื้ออ่าวทาน..
          13.7    คำสอนในวรรณกรรมเรื่องท้าวขูลูนางอั้ว
                   แม่นางอั้วสอนนางอั้วให้เป็นหญิงที่อยู่ในจารีตประเพณี โดยไม่ให้ ชิงสุก ก่อนฮ่าม หรือให้อยู่ในเฮือนสามน้ำสี่ ได้แก่ 1) เรือนพักอาศัย แม่บ้านที่ดีจะต้องดูแลให้สะอาดงามตาไม่รกรุงรัง และควรดูแลให้มีข้าวของเครื่องใช้ไม่ขาดตกบกพร่อง 2) เรือนใจ คือ มีจิตใจอบอุ่น เป็นที่พึ่งพิงทางใจทั้งยามสุขและทุกข์แก่สามีและสมาชิกในเรือนได้ 3) เรือนผม มีความหมายโดยนัย หมายถึง แม่ศรีเรือนที่ดีแม้จะมีภาระหน้าที่ต้องทำงานบ้านดูแลบ้าน ทำกับข้าว แต่ไม่ควรละเลยที่จะเอาใจใส่ดูแลความสวยงาม ความสะอาดของตัวเอง ให้สวย สะอาด ไม่มีกลิ่นกับข้าว กลิ่นเหงื่อ หรือน้ำมันเยิ้ม ต้องเป็นดอกไม้ของชาติ ไม่ใช่ปลาร้าของชาติ 
ส่วน น้ำสี่ ได้แก่ 1) น้ำกินน้ำใช้ ต้องคอยดูแลให้มีกินและมีใช้พร้อมเสมอ และสะอาดด้วย ที่มีข้อนี้เพราะแต่ก่อนเมืองไทยยังไม่มีน้ำประปาต้องอาศัยน้ำบ่อ น้ำท่า หรือน้ำฝน ดังนั้น แม่ศรีเรือนที่ดีจะต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องนี้ให้คนในเรือนมีความสุข 2) น้ำใจ แม่ศรีเรือนที่ดีต้องมีน้ำใจเอื้ออาทรทั้งกับสามี ลูก สมาชิกในครอบครัว เผื่อแผ่ไปถึงญาติมิตรของสามีด้วย 3) น้ำคำ คือ ต้องพูดจาอ่อนหวาน ไม่หยาบคาย จาบจ้วง รู้สิ่งควรพูดไม่ควรพูด 4) น้ำเต้าปูน สมัยก่อนคนไทยกินหมากกัน เชี่ยนหมากเป็นของสำคัญที่ต้องมีติดบ้าน แม่ศรีเรือนต้องคอยดูแลเอาใจใส่ดูแลส่วนนี้ น้ำเต้าปูน หมายถึง การหมั่นดูแลเติมน้ำใส่ในเต้าปูนซึ่งต้องมีความละเอียด ถ้าเติมน้ำมากไป ปูนก็จะเหลวป้ายไม่ติด เติมน้ำน้อยไปหรือลืมเติมก็จะข้นเกินไปแห้งแข็งใช้ไม่ได้ สำนวนส่วนน้ำเต้าปูนนี้แม้ปัจจุบันเราจะไม่กินหมากกันแล้ว แต่มีความหมายโดยนัยว่าให้แม่ศรีเรือนดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของสามีและคนในบ้านโดยรอบคอบและใส่ใจ 

13.     สรุปวรรณกรรม
         
จากที่ผู้เรียบเรียงได้ศึกษาข้อมูลเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานมาแล้ว พอที่จะสรุปได้ว่า นิทาน ตำนาน บทเพลง บทกวีนิพนธ์ ต่าง ๆ ตลอดจนภาษิต ปริศนา คำกล่าวฯลฯ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วมของคนกลุ่มใหญ่ที่มักอยู่ตามชุมชน และแตกต่างกับวรรณกรรมที่แต่งขึ้นเพื่อให้คนอ่านเมือนกลุ่มคนในเมืองหลวง แต่ไม่มีใครที่จะจดจำหรือรำลึกถึงบุคคลที่เป็นผู้แต่งคนแรก ได้ ทั้งนี้อาจะเป็นเพราะเนื่องจาก วรรณกรรมในอดีตแต่งขึ้นในสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกด้วยภาษาเขียนหรือหากมีก็มีส่วนน้อย ดังนั้น วรรณกรรมท้องถิ่นจึงมีลักษณะเด่นอยู่ประการหนึ่ง คือ ไม่รู้ที่มา ไม่ว่านิทาน ตำนาน หรือเพลง หรือวรรณกรรม อื่น ๆ ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีคนนำมาเล่า มาขับร้อง โดยซ้ำกับตัวบทที่มีอยู่เดิมแล้ว และเป็นธรรมดาของการถ่ายทอดเรื่องราวโดยนักเล่านิทานหรือนักขับเพลงรุ่นต่อมา คือ มีการเพิ่มเติมรายละเอียด หรือเหตุการณ์อย่างอื่นเข้าไป ทำให้ตัวบทหรือต้นฉบับของวรรณกรรมเปลี่ยนไป ไม่มีฉบับใดตรงกันทุกตัวอักษร แต่ก็ยังได้รับความนิยมในกลุ่มคนบางกลุ่ม และยังได้รับความสนใจจากกลุ่มปัญญาชนในฐานะที่วรรณกรรม สามารถสร้างความพอใจให้พวกเขาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น วรรณกรรมจะคงอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืนนาน เพราะวรรณกรรมเป็นสมบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเขา สามารถสนองความต้องการทางอารมณ์ในด้านวรรณศิลป์ เช่น กลอนลำ ให้กับคนในทุกกลุ่มสังคมนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 บรรณานุกรม

กิ่งแก้ว อัตถากร.  (2519).  คติชนวิทยา. กรุงเทพฯ.
ดนุพล  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดเลย.  พิมพ์ครั้งที่4.  เลย:  รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.
ธวัช ปุณโณทก,  (2537).  วรรณกรรมภาคอีสาน.  กรุงเทพฯ.  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ภัทรา ตั้งคำ.  (2529).  วรรณกรรมท้องถิ่นของเยอร์มัน.  กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์.  (2526).  ความรู้ทั่วไปทางภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราคำแหง
_________.  (ม.ป.ป.).  วรรณกรรมปัจจุบัน.  พิมพ์ครั้งที่ 15.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
รำเผย  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณศิลป์อีสาน.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  เลย: รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.
เสถียรโกเศศ  นาคะประทีป.  (2507).  การศึกษาวรรณคดีแง่วรรณศิลป์.  พระนคร: ราชบัณฑิตยสถาน.เสาวลักษณ์ อนันตศานต์.  (2538).  นิทานพื้นบ้านเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
          มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อุดม บัวศรี.  (2546).  วัฒนธรรมอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.


บทความที่ได้รับความนิยม

ข่าวเรียกบรรจุครูทั่วไทย อ่านต่อได้ที่: http://www.kruwandee.com/widget.html

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน