05 กันยายน 2562

รวมบทคัดย่องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย


เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย



6.1  รวมบทคัดย่องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

6.1.1  งานวิจัยเกี่ยวข้องกับภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมอีสาน
พระชัยชนะ  พิมพ์คีรี (2548) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมอีสานจากกลอนลำของหมอลำ ฉวีวรรณ ดำเนิน  ผลการศึกษาพบว่า   ด้านประวัติศาสตร์ ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย  เนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ  ด้านการทำมาหากิน ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับการทำมาหากินของชาวดีสานส่วนใหญ่ยังคงยึดการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ปัญหาใหญ่ของชาวอีสานคือ ความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำที่จะนำมาใช้ในการทำการเกษตร ขาดความรู้ในการจัดการน้ำที่ดี ด้านการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนการประพฤติปฏิบัติตัวของสตรีชาวอีสาน เนื้อหาที่สอนให้ละเว้นอบายมุข เนื้อหาที่สอนให้รู้ถึงสัจธรรมแห่งชีวิต เนื้อหาที่ให้คติสอนใจ   ด้านคติความเชื่อ ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวอีสานในทางพุธศาสนา ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ความเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ความเชื่อเกี่ยวกับผี ความเชื่อเรื่องความฝัน ความเชื่อในชาติปางก่อนและชาติหน้า
โอสถ บุตรมารศรี (2538) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง ภาพสะท้อนของสังคมอีสานจากกลอนลำของหมอลำเคน  ดาเหลา พบว่า  ด้านการเมืองการปกครอง กลอนลำได้สะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเหตุการณ์ทางการเมือง ในส่วนของภาพสะท้อนของสังคมด้านเศรษฐกิจ กลอนลำได้สะท้อนให้เห็นการถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลาง ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ทางด้านภาพสะท้อนของสังคม ด้านศาสนา ความเชื่อ แล่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านศาสนา กลอนลำได้สะท้อนให้เห็นการยึดมั่นในคำสอนของศาสนา การกล่าวถึงบุคคลสำคัญในศาสนา การกล่าวถึงวัดและพระสงฆ์  ด้านความเชื่อ กลอนลำได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ความเชื่อเรื่องความฝัน ความเชื่อเรื่องแถน ในด้านภาพท้อนของสังคมด้านการศึกษา กลอนลำได้สะท้อนให้เห็ฯการสอนพ่อแม่ ให้เอาใจใส่ดูแลลูก สอนการประพฤติตนของวัยรุ่น
รุ่งสุริยา  เมืองเหลา  (2537)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง ภาพสะท้อนสังคมอีสานซึ่งปรากฏในบทเพลงที่พรศักดิ์  ส่องแสงขับร้อง   ผลการศึกษา พบว่า ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ศาสนาและคติความเชื่อ  บทเพลงได้สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีการบวช แต่งงาน ลงแขก ลงข่วง และบุญผ้าป่า ด้านวัฒนธรรม บทเพลงกล่าวถึงวัฒนธรรมที่เด่นชัดอยู่ 2 อย่างคือ การรับประทานอาหารและศิลปะการใช้ถ้อยคำ ส่วนในด้านศาสนาและคติความเชื่อนั้น บทเพลงได้สะท้อนให้เห็นถึงการนับถือพระพุทธศาสนา บทบาทของวัด การเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อในเรื่องบุญกรรม โชคชะตา วาสนา เครื่องรางของขลัง และไสยศาสตร์  ด้านเศรษฐกิจ อาชีพ การเมืองการปกครอง บทเพลงสะท้อนถึงปัญหาความแห้งแล้ง ความยากจน   ด้านการศึกษาอบรมและอื่นๆ พบว่า บทเพลงได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาไม่สอดคล้องกับอาชีพที่รองรับ การอบรมสั่งสอนให้หญิงชายประพฤติในสิ่งที่ดีงาม กตัญญูต่อบิดา มารดา และผู้ที่มีพระคุณ
จำลอง  วงษ์ยี่ (2552)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง บทเพลงลูกทุ่ง พ.ศ.2537:  ภาพสะท้อนและบทบาทหน้าที่ทางสังคมและวัฒนธรรม  ผลการศึกษา พบว่า ในด้านบทบาทหน้าที่ทางสังคม เพลงลูกทุ่งได้ให้ความบันเทิง ให้ความรู้ การรักษา บรรทัดฐานและจรรโลงสังคม การระบายอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ การช่วยปลอบประโลม การช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสารตลอดจนนโยบายสําคัญของราชการแก่ประชาชน   ส่วนบทบาทหน้าที่ทางวัฒนธรรมนั้น  เพลงลูกทุ่งมีบทบาทหน้าที่ 2 ประการ คือ การ ปลุกจิตสํานึกในการเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการส่งเสริมให้เกิดการ อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนีย
จันทศรี  สุตโต (2546) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่งระหว่างปี พ.ศ.2543-2554  ผลการศึกษา พบว่า เพลงที่สะท้อนภาพสังคมเมืองมีเนื้อหาแยกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ สภาพทั่วไปของสังคมเมือง กับปัญหาสังคมเมือง สภาพทั่วไปของสังคมเมืองมีประเด็น ทั้งสิ้น 4 ประเด็น คือ สภาพเศรษฐกิจ สถาบันทางสังคม วิถีชีวิต และค่านิยมปัญหาของสังคมเมืองแบ่งได้เป็น 4 ประเด็น คือ ปัญหาเกี่ยวกับเยาวชน ปัญหาเกี่ยวกับสตรี ปัญหาครอบครัว และปัญหาทั่วๆ ไป  เพลงที่สะท้อนสังคมชนบท มีเนื้อหาแยกเป็น 2 ประเด็นหลักคือ สภาพทั่วไปของสังคมชนบท กับปัญหาสังคมชนบท สภาพทั่วไปของสังคมชนบท มีประเด็น ทั้งสิ้น 5 ประเด็น คือ สภาพเศรษฐกิจ สถาบันทางสังคม วิถีชีวิต ค่านิยม การปกครอง  ปัญหาของสังคมชนบทแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น คือ ปัญหาเกี่ยวกับเยาวชน ปัญหาครอบครัว และปัญหาทั่วๆ ไป
วิภา  ปานประชา (2549)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมในวรรณกรรมเพลงลูกทุ่งของ สลา คุณวุฒิ ผลการศึกษา พบว่า ภาพสะท้อนด้านสังคม พบว่า บทเพลงส่วนใหญ่สะท้อนในด้านการสื่อสารด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ  นอกจากนั้น ยังได้สะท้อนในเรื่องการคมนาคม เทคโนโลยีการศึกษา ครอบครัว ปัญหาสังคมและสาธารณสุข คิดเป็นร้อยละ 20.81 แสดงให้เห็นว่า สลา  คุณวุฒิ  ได้ให้ความสนใจในเรื่องของสังคมมากพอสมควร ภาพสะท้อนด้านเศรษฐกิจ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุและผลกระทบจากความยากจนของชาวนาอีสาน ภาพสะท้อนด้านการเมืองการปกครอง สลา  คุณวุฒิ ได้กล่าวถึงนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ภาพสะท้อนด้านวัฒนธรรม พบว่า บทเพลงส่วนใหญ่ จะใช้ภาษาถิ่นอีสานสอดแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งมีภาษาอังกฤษปะปนอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังได้สะท้อน ค่านิยม ความเชื่อ การพักผ่อนหย่อนใจ  ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและเทศกาล
วิจิตรา อาจบำรุง  (2552)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมในเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดย พี  สะเดิด ผลการศึกษา พบว่า ภาพสะท้อนสังคมด้านเศรษฐกิจ พบว่า ชาวบนบทถิ่นอีสานได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ฝืดเคือง แร้นแค้น และยากจน ทำให้ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้านอาชีพ พบว่า ชาวชนบทที่ทำงานต่างถิ่นจะประกอบอาชีพรับจ้างเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ การประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพนักร้อง หมอลำ และหางเครื่อง ด้านการศึกษา พบว่า คนไทยถิ่นอีสานส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่สูงนัก มีเพียงไม่กี่คนที่จะมีโอกาสได้ศึกษาต่อ ด้านค่านิยม พบว่าค่านิยมที่หลากหลายและพบค่านิยมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ค่านิยมด้านการแต่งกาย ค่านิยมด้านการกิน ค่านิยมเรื่องความรัก ค่านิยมเรื่องการคบคน และค่านิยมด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านความเชื่อ พบว่า ชาวชนบทมีความเชื่อทางศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อเรื่องขวัญอย่างเหนียวแน่น และความเชื่อเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ขวัญยืน ศรีเถื่อน และคณะ (2547) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมในบทเพลงที่ขับร้องโดยไมค์ ภิรมย์พร  ผลการศึกษา พบว่า บทเพลงที่ขับร้องโดยไมค์  ภิรมย์พร  ได้สะท้อนภาพสังคมดังนี้ คือ ด้านเศรษฐกิจ  พบปัญหาทางด้านภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและความยากจน  ด้านอาชีพ ส่วนใหญ่ประชาชนมีอาชีพรับจ้าง ซึ่งอพยพจากชนบทเข้าสู่ตัวเมือง ด้านการศึกษาพบว่า การศึกษาของคนในชนบทมีการศึกษาต่ำต้อยโอกาสทางการศึกษา ผลมาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ด้านค่านิยม ประชาชนในสังคมมีค่านิยมความขยันอดทน ความั่นคงในความรัก และค่านิยมความร่ำรวยเงินทอง นอกจากนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดจากบทเพลงเป็นลักษณะของการให้กำลังใจผู้ใช้แรงงานทั้งด้านความรักและความขยันอดทน
บุญเกิด มาดหมาย (2550)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมในบทเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์  ผลการศึกษา พบว่า บทเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดยศิริพร อำไพพงษ์  ได้สะท้อนภาพสังคมคือ ด้านเศรฐกิจพบว่า ต้องผจญกับความยากจน มีสภาพการเป็นอยู่ที่ฝืดเคือง จนต้องดิ้นรนเดินทางไปทำงานต่างถิ่นเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้านอาชีพ พบว่าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา และก็ประกอบอาชีพอื่นเสริมด้วย ด้านการศึกษาพบว่าคนไทยในชนบทส่วนใหญ่ยังได้รับการศึกษาขึ้นต่ำ จบแค่ชั้นประถมศึกษา ด้านค่านิยมพบว่ามีค่านิยมที่หลากหลายโดยเฉพาะค่านิยมที่เกี่ยวกับคู่ครอง ด้านความเชื่อ พบว่า มีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ทองแตง  ภูดี  (2551)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมอีสานจากวีซีดีบันทึกการแสดงสดคณะเสียงอีสาน ผลการศึกษา พบว่า ภาพสะท้อนสังคมด้านอาชีพ ปรากฏอาชีพเกษตรกรรมมากที่สุดได้แก่ การทำไร่ ทำนา ทำสวน ซึ่งต้องอาศัยธรรมชาติ คือ น้ำฝนมาช่วยในการทำไร่ ทำนา ด้านชีวิตความเป็นอยู่ คนอีสานมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และปรากฏเรื่องการใช้ชีวิตคู่มากที่สุดซึ่งเป็นชีวิตคู่ที่มีปัญหาอันเกิดจากความไม่เข้าใจกันของสามีภรรยา  ด้านค่านิยมปรากฏค่านำยมเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์มากที่สุดคือ ค่านิยมในการมีรถ  มีบ้านหลังใหญ่ ยกย่องคนรวย ด้านความเชื่อ จะปรากฏความเชื่อเกี่ยวกับชาติภพมากที่สุด เนื่องจากคนไทยมีความเชื่อว่าถ้าได้ทำบุญกับใครไว้ในชาตินี้ ชาติหน้าก็จะได้เกิดมาพบกันอีก ด้านเศรษฐกิจ พบว่าในภาคอีสานมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุดอันเกี่ยวโยงไปถึงการศึกษาของคนในสังคมที่มีการศึกษาต่ำ ไม่สามารถที่จะทำงานที่มีรายได้ดี ค่าตอบแทนสูงได้ ส่วนด้านประเพณีและด้านการศึกษามีจำนวนเท่ากัน ประเพณีมีปรากฏมากที่สุด คือ ประเพณีสงกรานต์ ทำให้เห็นได้ว่าคนในภาคอีสานยังคงรักษาประเพณีที่ดีงามของตนให้ดำรงอยู่ในสังคมมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนด้านการศึกษาจะปรากฏการศึกษาในระดับต่ำมากที่สุด อันมีสาเหตุมากจากไม่มีทุนในการศึกษาเล่าเรียน การขาดโอกาสในการศึกษาเป็นต้น   
สิรินาถ  ฉัตรทอง  (2549) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง เพลงลูกทุ่ง :  ภาพสะท้อนค่านิยมในสังคมไทย ผลการศึกษา พบว่า เพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความรัก พฤติกรมระหว่างหนุ่มสาว วิถีชีวิต เหตุการณ์ประจำวัน และการติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ พบว่าค่านิยมในสังคมไทยที่สะท้อนผ่านทางเนื้อหาของเพลงลูกทุ่ง จำนวน 17 ค่านิยมซึ่งค่านิยมที่ถูกล่าวถึงในเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่ก็เป็นค่านิยมในเรื่องความรัก กล่าวคือ เป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อกันระหว่างคนรัก ค่านิยมในการเลือกคู่รักหรือคู่ครอง  สำหรับการเปรียบเทียบค่านิยมในสังคมไทยที่สะท้อนผ่านเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งในช่วงก่อนและหลังวิฤตเศรษฐกิจ พบว่าเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องเศรษฐกิจส่วนใหญ่ คือ เรื่องปัญหาความยากจน การเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง โดยปัญหาเรื่องความยากจนที่สะท้อนผ่านเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งทั้งในช่วงก่อนและหลังวิกฤตเศรษฐกิจนั้นมีความคล้ายคลึงกัน จะมีความแตกต่างในเรื่องการเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่าการเข้ามาทำงานในเมืองสำหรับผู้หญิงจะถูกล่าวโทษว่าทะเยอทะยาน นิยมวัตถุ ส่วนในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้พบว่าต้องอดทนทำงานเพื่อความสำเร็จ และพบว่ามีการกล่าวถึงความประหยัดในเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจอีกด้วย

6.1.2 งานวิจัยเกี่ยวกับกลอนลำ  และลำกลอน

          โสภิตสุดา อนันตรักษ์ (2534) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์กลอนลำของลำเรื่องต่อกลอน ผลการศึกษา พบว่า คุณค่าด้านสังคมวิทยา พบว่าสะท้อนค่านิยม เกี่ยวกับความกตัญญูที่มีต่อบิดามารดาและครูอาจารย์ เกี่ยวกับ การปฏิบัติตนของคนในสังคม สะท้อนความเชื่อในสังคมได้แก่ ความเชื่อทางศาสนาที่เชื่อเรื่องกรรมเก่า การทำบุญ ความไม่เที่ยงแท้ ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ เทพเจ้าเทวดา ภูตผี ความฝัน คำสาบาน การเสี่ยงบุญเสี่ยงธรรม โชคลาง การแต่งกายตามสี สะท้อนคำสอน ได้แก่ การให้เป็นผู้ใฝ่รู้ การรักษาศักดิ์ของสตรี การสอนให้ตั้งใจทำความดี และการให้อภัย สะท้อนวิถีชีวิตมนุษย์ได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพดินฟ้าอากาศของชาวชนบทอีสาน
กฤษฎา ศรีธรรมา (2534) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์องค์ประกอบทางวรรณกรรมของเพลงหมอลำในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2522-2531) ผลการศึกษา พบว่า ด้านรูปแบบของวรรณกรรมเพลงหมอลำมีทำนองลำเต้ย ลำเพลิน ลำแพน และลำเดิน ซึ่งเป็นทำนองเพลงพื้นบ้านอีสาน โดยกำหนด เป็น 2 จังหวะ 3 จังหวะ และจังหวะผสมผสานตามลำดับ ในเรื่องจำนวนพยางค์แต่ละวรรคจะมีตั้งแต่ 4-14 พยางค์ ในแต่ละบทพยางค์ท้ายวรรคจะส่งสัมผัสไปยังพยางค์ใดก็ได้ในวรรคถัดไปซึ่งจะพบมากที่สุด ส่วนการส่งสัมผัสลักษณะอื่นนั้นจะไม่เป็นระบบที่ตายตัว  เกี่ยวกับท่วงทำนองการแต่งวรรณกรรมเพลงหมอลำแต่งด้วยภาษาถิ่นอีสานสลับกับภาษาไทยกลางในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันมีจำนวนมากที่สุดถึง 150 เพลงสำหรับศิลปะการใช้คำและโวหารในวรรณกรรมเพลงหมอลำจะช้ำคำง่าย คำย่อ คำสุภาพ คำภาษาถิ่นอีสาน คำภาษาต่างประเทศ คำสะแลง คำที่สร้างขึ้นใหม่ คำแสดงอารมณ์ คำซ้ำ คำซ้อน และการหลากคำพร้อมทั้งแทรกโวหารไว้เกือบทุกเพลง
เยาวภา คำเนตร (2536) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตของชาวอีสานจากกลอนลำทางยาวของลำกลอน ผลการศึกษา พบว่า วิถีชีวิตของชาวอีสานที่มีปรากฏในกลอนลำทางยาวของลำกลอนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การปกครอง ได้แสดงออกในเรื่องของความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การป้องกันประเทศ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ได้แสดงออกในเรื่องของการประกอบอาชีพในท้องถิ่น การไปทำงานต่างถิ่น และท้องถิ่นใกล้เคียง ตลอดจนการไปทำงานต่างประเทศ ทางด้านวิถีชีวิตเกี่ยวกับการศึกษา ได้แสดงออกในเรื่องการสอนหญิง การสอนชาย และการสอนคนทั่วไป วิถีชีวิตเกี่ยวกับศาสนา และความเชื่อ ได้กล่าวถึงความสำคัญของศาสนา พุทธประวัติ พระสงฆ์ ศาสนสถาน พุทธศาสนิกชน และคำสอนเรื่องกรรม รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี ความเชื่อด้านไสยศาสตร์ ความเชื่อด้านโหราศาสตร์ ความเชื่อเกี่ยวกับการให้พร และความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ส่วนวิถีชีวิตด้านขนบธรรมเนียมประเพณีมีการกล่าวถึงประเพณีในฮีต12 เกี่ยวกับชีวิต และประเพณีเกี่ยวกับการเกษตรและวิถีชีวิตเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ได้กล่าวถึงการประกอบอาชีพ สภาพภูมิอากาศ สภาที่อยู่อาศัย อาหาร การแต่งกาย การยอมรับผู้นำ ความรัก และการละเล่นตลอดจนความบันเทิง
คงฤทธิ์  แข็งแรง (2537) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง กลอนลำของหมอลำสุทธิสมพงษ์ สะท้านอาจ  ผลการศึกษา พบว่า คติความเชื่อและภาพสะท้อนทางสังคมที่ปรากฏในกลอนลำของหมอลำสุทธิสมพงษ์  สะท้านอาจ ด้านคติความเชื่อมี 3 ลักษณะคือ ประการแรก ความเชื่อแบบดั่งเดิม ได้แก่ ความเชื่อเรื่องผีแถน ความเชื่อเรื่องเทวดา ความเชื่อเรื่องพระอินทร์ ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา ความเชื่อเรื่องนางธรณี ความเชื่อเรื่องผีหลักเมือง ความเชื่อเรื่องผีตาแฮก ประการที่สองความเชื่อเรื่องพราหมณ์ ได้แก่ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความเชื่อทางโหราศาสตร์ และประการสุดท้าย ความเชื่อคติทางพุทธ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องบาปบุญ กรรมเวร ความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ ความเชื่อเรื่องอนิจจัง ด้านภาพสะท้อนทางสังคมได้บรรยายให้เห็นถึงสังคมชาวดีสานอยู่ 3 ลักษณะคือ ภาพสะท้อนด้านสภาพแวดล้อม ภาพสะท้อนลักษณะชีวิตส่วนบุคคล และภาพสะท้อนลักษณะสังคมอีสาน ซึ่งภาพสะท้อนเหล่านี้ได้กล่าวถึง สภาพภูมิศาสตร์ของภาคอีสานด้านที่อยู่อาศัย เกี่ยวกับขนมธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม การประกอบอาชีพ การศึกษาและการเมืองการปกครอง
ปริญญา  ป้องรอด (2544) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์บทหมอลำเรื่องต่อกลอน   ผลการศึกษา พบว่า เรื่องที่นำมาประพันธ์เป็นบทหมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัวเข้าใจง่าย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตน โดยชี้ให้เห็นถึงความดีและความไม่ดีที่ชัดเจน มีแก่นเรื่องเดียว โครงเรื่องไม่ซับซ้อน มีตัวละครหลักในการดำเนินเรื่องเพียงหนึ่งหรือสองตัวละครเท่านั้น สำหรับฉากนั้นเป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่นอีสานบทหมอลำเรื่องต่อกลอนยังสะท้อนเนื้อหาเชิงสังคมและคติชนวิทยา โดยชี้ให้เห็นถึงค่านิยม ความเชื่อ แนวคิด วิถีชีวิต ตลอดจนประเพณีของอีสานได้อย่างน่าสนใจ เนื้อหาแสดงถึงการดำเนินชีวิต การปฏิบัตตนในสิ่งที่ดีงาม นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงท่านิยมและความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของคนอีสาน
          ชัยนาทร์  มาเพ็ชร (2545) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง ภูมิปัญญาทางคีตศิลป์ของหมอลำ ป.ฉลาดน้อย ผลการศึกษา พบว่า องค์ประกอบของกลอนลำด้านรูปแบบการประพันธ์ ประกอบด้วยกลอนลำลักษณะเป็นกลอนลำทางยาว มีบทเกริ่นบรรยายความซึ่งมีลักษณะในการแต่งเหมือนกลอนแปด กลอนปลายหรือต้อนจบการเอื้อนเสียงให้ยาวใช้คำลงได้ คือ ละนา โอ เอย ศิลปะการใช้ภาษาจะใช้ภาษาถิ่น เพื่อให้กลมกลืน และสัมพันธ์กับถ้อยคำ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจและซาบซึ้งในการฟังเนื้อหาในกลอนลำของหมอลำป.ฉลาดน้อยกล่าวถึงสังคมอีสาน เรื่องวิถีชีวิตของคน รายละเอียดปีกย่อยและสำนวนในกลอนลำได้สอดแทรกเรื่องของคติธรรมคำสอนในการดำรงชีวิตของคน เรื่องการทำความดีความชั่ว
จิราวัลย์  ซาเหลา (2546) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง กระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดศิลปะการแสดงของหมอลำอาชีพ
ผลการศึกษา พบว่า กระบวนการเรียนรู้ของศิลปินหมอลำอาชีพทุกแขนงจะมีกระบวนการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกัน คือผู้เรียนต้องมีใจรัก บิดามารดาเป็นหมอลำ และฐานะครอบครัวยากจนต้องการหารายได้ โดยเริ่มเรียนรู้จากการไปแสวงหาครูผู้สอนและสมัครเป็นลูกศิษย์ ทดสอบน้ำเสียง ท่องกลอนลำ ฝึกท่าทางประกอบให้เข้ากับแคนและดนตรีฝึกซ้อมร่วมกับผู้แสดงอื่น ออกรับงานแสดง และฝึกฝนพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง สำหรับกระบวนการถ่ายทอดของศิลปินหมอลำอาชีพนั้น มีวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์โดยมีวิธีการถ่ายทอดตามที่ตนเองได้ฝึกฝนและเรียนรู้มา โดยครูผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะ สาธิต การฝึกปฏิบัติจริง และเลียนแบบจากต้นแบบ (ตังครูผู้สอน) ส่วนแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งโรงเรียนหมอลำ หรือศูนย์การเรียนรู้อาชีพเรื่องหมอลำ กำหนดหลักสูตร รูปแบบวิธีการถ่ายทอด ขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนงบประมาณ และควบคุมมาตรฐานการดำเนินการ ควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ และจุดประกายความคิดผู้เรียนในการเป็นศิลปินหมอลำอาชีพเพื่ออนุรักษ์วิชาชีพนี้สืบต่อไป
          แก้วตา  จันทรานุสรณ์ (2546) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ในกลอนลำเรื่องร่วมสมัย (พ.ศ.2537-2543)  ผลการวิจัยพบว่า กลอนลำเรื่องแนวใหม่ที่แต่งร่วมสมัยมีลักษณะร่วมกันด้านองค์ประกอบดังนี้ ลักษณะโครงเรื่องมุ่งนำเสนอสภาพปัญหาชีวิตของชาวบ้านในชนบทอีสาน ที่แสดงความคิดและความปรารถนาที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยการเข้าเมืองใหญ่เพื่อขายแรงงาน แต่กลับต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตมีความยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น ลักษณะตัวละครเป็นชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน ลักษณะกลอนลำมีขนาดสั้นลงมีบทเจรจามากขึ้นเพื่อให้การดำเนินเรื่องกระซับรวดเร็ว ลักษณะฉาก เน้นความสัมพันธ์ระหว่างฉากในชนบทกับฉากในเมือง และสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและโลกทัศน์ของชาวอีสาน ทั้งโลกทัศน์ที่มีต่อมนุษย์ เศรษฐกิจ การศึกษา ความเชื่อศาสนา และโลกทัศน์ที่มีต่อชุมชนโดยปรากฏในระดับคิดเชิงประเมินค่าว่าเงินมีความหมายอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตในวังคมอุตสาหกรรมทุนนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งเชื่อมโยงไปยังระบบคิดว่าต้องแสวงหาเงินเพื่อตอบสนองความต้องการในการดำเนินชีวิตและเพื่อให้สังคมยอมรับ
          วินัย  ใจเอื้อ (2546) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาวิธีการร้อง หมอลำ ของฉวีวรรณ ดำเนิน ผลการศึกษา พบว่า เนื้อหาของกลอนลำทั้ง 4 ทำนองบรรยายสภาพธรรมชาติตามชนบทของชาวอีสาน วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้าน และการเกี้ยวพาราสี ใช้ภาษาถิ่นอีสานและภาษาไทยกลางเป็นหลัก ถ้อยคำที่ใช้แสดงออกถึงอารมณ์ในด้านต่าง ๆมีการเล่นคำ ซ้ำคำ เสริมคำ อย่างเหมาะสม จังหวะยืดหยุ่นได้ตามอารมณ์ ทำนองไม่ตายตัวแต่ยึดลูกตกเป็นหลัก
          สุภาภรณ์   มาตขาว (2546) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องวรรณกรรมกลอนลำของหมอลำทองสา สามสี บ้านนาโส ตำบลนาโส อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ผลการศึกษา พบว่า ด้านเนื้อหาสาระที่ปรากฏในกลอนลำ พบว่ามีเนื้อหา 7 ด้านได้แก่ ศาสนา และความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม การดำเนินชีวิต การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง
สุภาพร   คงศิริรัตน์ (2548) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง อัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่ปรากฏในแบบเรียนภาษาลาวชั้นประถมศึกษา ได้แก่ความสามัคคีความรักชาติและการมีสุขภาพอนามัยที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามัคคีแบบเรียนจะเน้นย้ำเป็นพิเศษเกี่ยวกับความสามัคคีระหว่างชนเผ่า (ethnic) ต่างๆเนื่องจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบไปด้วยหลายชนเผ่าความเป็นเอกภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งอัตลักษณ์ที่เด่นชัดประการที่สองได้แก่ความรักชาติการที่แบบเรียนภาษาลาวให้ความสำคัญแก่อัตลักษณ์ทั้งสองนี้มากเนื่องจากแบบเรียนนี้เขียนขึ้นหลังจากที่ลาวฝ่ายซ้ายซึ่งนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ชนะลาวฝ่ายขวาซึ่งนิยมสหรัฐอเมริกาในปี 1975 รัฐบาลจึงพยายามอย่างมากในการสร้างความความรู้สึกของความเป็นเอกภาพเพื่อความมั่นคงและเอกราชของประเทศส่วนกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่ปรากฏในแบบเรียนนั้นใช้วิธีการตอกย้ำทางความคิดของผู้เรียนโดยการย้ำที่ชื่อบทเรียนการย้ำที่ตัวเนื้อหาบทเรียนและการกล่าวซ้ำในประเด็นเดียวกันอีกในแบบเรียนต่างระดับ
เอื้อมเดือน  ถิ่นปัญจา (2548) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะเรื่องหมอลำกลอนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนม่วงหวานพัฒนาศึกษาจังหวัดขอนแก่น  ผลการศึกษา พบว่า การจัดนิทรรศการนำเสนอหลักสูตรมีความเหมาะสมดีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเห็นด้วยมากที่สุดคือหมอลำกลอนมีคุณค่าในด้านวัฒนธรรมหมอลำกลอนมีประโยชน์ต่อชุมชนต่อผู้เรียนและมีความพึงพอใจต่อหลักสูตรหมอลำกลอนผู้บริหาร-ครูอาจารย์เห็นว่าหลักสูตรหมอลำกลอนมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2548 เปิดเป็นวิชาเพิ่มเติมวิชาหมอลำกลอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กฤษฎา  สุขสำเนียง (2549) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง หมอลำสีพันดอน: กรณีศึกษาคณะทองบาง แก้วสุวัน เมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวผลการศึกษา พบว่า โครงสร้างของทำนองลำสีพันดอนแบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ (1)ทำนองนำเป็นทำนองเฉพาะของแคนเป่านำเพื่อเป็นการตั้งเสียงให้แก่หมอลำ  (2) ลำเกริ่น เป็นการลำเริ่มต้นของหมอลำช่วงสั้น ๆ ประมาณ 3-10 บท สอดประสานกับทำนองของแคน เนื้อหาของกลอนลำจะเป็นการกล่าวนำเพื่อเชื่อมโยงถึงเนื้อหาในตอนต่อไป และจบด้วยทำนองลำลงจบ (3) ลำเนื้อเรื่อง มีลักษณะทำนองลำและทำนองแคนเหมือนกับลำเกริ่นแต่จะมีความยาวมากกว่าและมีเนื้อหากลอนลำขยายความจากลำเกริ่น (4) ลำลงจบ มีทำนองตอนต้นเหมือนกับลำเกริ่น และลำเนื้อเรื่องแต่จะแตกต่างกันที่ทำนองวรรคสุดท้ายของบท (5)คุณลักษณะทางดนตรี ทำนองเพลงใช้ระบบ 5 เสียง ผิวพรรณ เป็นแบบ Homophonhy Drone Harmomyไม่มีการใช้เครื่องประกอบจังหวะ
ปริยัติ  นามสง่า (2553) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาชีวิตผลงานบทบาทต่อสังคมและอัตลักษณ์ของหมอลำสำอางเจียงคำบ้านขามเรียงอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามมุ่งศึกษาอัตลักษณ์ด้านต่างๆของหมอลำสำอางเจียงคำ พบว่าในด้านชีวิตผลงานและบทบาทต่อสังคมหมอลำสำอางเจียงคำมีชีวิตที่มีความสันโดษใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อเป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยดีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนรอบข้างจึงเป็นที่รักกับผู้ที่ได้คบหาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นครูผู้มีความสามารถในการถ่ายทอดศิลปะหมอลำกลอนได้อย่างยอดเยี่ยมดังจะเห็นได้จากรางวัลที่ได้รับจากสถาบันต่างๆทั้งในและต่างประเทศมากมายทั้งนี้เพราะว่าหมอลำสำอางเจียงคำมีแก้วเสียงดีเสียงทุ้มต่ำหนักแน่นซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่สร้างชื่อเสียงและทำให้คนรู้จักมีการจดจำกลอนลำที่ดีการแต่งกายและบุคลิกภาพดีมีความขยันพัฒนาตนอยู่เสมอมีความซื่อสัตย์และให้เกียรติกับอาชีพของตัวเองและยังมีบทบาททางสังคมด้านต่างๆคือการอนุรักษ์หมอลำกลอนการเผยแพร่ให้ความรู้การให้ความบันเทิงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาการป้องกันยาเสพย์ติดการสาธารณสุขการประชาสัมพันธ์
สุวิทย์  รัตนปัญญา (2553) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง บริบทของหมอลำกลอนในประเทศไทยและในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้านสังคมพบว่าเกิดภาวะสังคมผู้สูงอายุในชุมชนค่านิยมในการดูโทรทัศน์มากขึ้นและเกิดภาวะความทันสมัยเข้าสู่สังคมมากขึ้นและด้านวัฒนธรรมประเพณีพบว่าวัฒนธรรมการบริโภคและวิถีชุมชนเปลี่ยนไปรวมถึงประเพณีในท้องถิ่นบางอย่างสูญหายไป 2) คุณค่าของหมอลำกลอนในประเทศไทยและในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมี 4 ด้านดังนี้  ด้านเศรษฐกิจ 2) ให้การศึกษา 3) จรรโลงวัฒนธรรมของชาติและ 4) เป็นสื่อที่ใช้ในการระบายความคับข้องใจด้านวัฒนธรรมประเพณีพบว่า (1) หมอลำกลอนผู้หญิงจะมีบทบาทมากขึ้นในด้านการแสดงด้านการบริหารจัดการและด้านการเป็นผู้นำคณะ (2) วัฒนธรรมอีสานมีแนวโน้มที่จะย้อนกลับสู่จุดเดิมอีกครั้งและ (3) โอกาสและสถานที่ในการแสดงมีมากขึ้นทั้งในสังคมชนบทอีสานและสังคมเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศนโยบายส่งเสริมการรวมกลุ่มและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมหมอลำระหว่างประเทศ4) ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการอนุรักษ์ให้หมอลำกลอนดำรงอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืนได้ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ 1) ด้านการรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมหมอลำกลอนให้คงอยู่อย่างมั่นคง 2) ด้านการสร้างค่านิยมจิตสำนึกในการชมการแสดงหมอลำกลอน 3) ด้านการนำทุนวัฒนธรรมของหมอลำกลอนมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและ 4) ด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านหมอลำกลอน
วรศักดิ์  วรยศ (2554) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองสินไซ จังหวัดขอนแก่น  ผลการศึกษา พบว่า หมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวอีสานที่นิยมนำมาเล่าและนำมาแสดงหมอลำเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดเจตนารมณ์ด้านทัศนคติความเชื่อประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอีสานพบว่า ประวัติความเป็นมาของศิลปะการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองสินไซบ้านโนนฆ้องเกิดจากการเล่านิทานการละเล่นดนตรีพื้นบ้านในการสนทนาพบปะสังสรรค์ของชาวบ้านหลังเสร็จจากการทำนาเพื่อคลายเครียดและจากการประสบผลสำเร็จของหมอลำทองหล่อคำภูที่ได้สร้างชื่อเสียงมีรายได้ดีจากการแสดงหมอลำและยังพบว่าหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองสินไซพัฒนามาจากหมอลำพื้นสภาพปัจจุบันและปัญหาพบว่าปัจจุบันได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่น้อยผู้ชมส่วนใหญ่หันไปสนใจหมอลำร่วมสมัยที่นำเอาวงดนตรีลูกทุ่งมาเล่นผสมผสานกับการลำเรื่องต่อกลอนสอดแทรกสลับฉากด้วยการแสดงตลกหรือการแสดงที่หลากหลายเรียกร้องความสนใจผู้ชมตลอดเวลาเป็นเหตุให้หมอลำทำนองสินไซประสบปัญหางานแสดงน้อยหรือไม่มีงานแสดงติดต่อกันหลายปีหมอลำทำนองสินไซหลายคนหันไปแสดงหมอลำทำนองใหม่ตามสมัยนิยมหรือไปประกอบอาชีพอื่น
 บุณย์เสนอ  ตรีวิเศษ (2555) ได้นำเสนอบทความเรื่อง การวิเคราะห์อัตลักษณ์แห่งกวีประชาชนในร้อยกรองของประเสริฐจันดำ ผลการศึกษา พบว่า โดยศึกษาจากหนังสือรวมร้อยกรองของประเสริฐจันดำที่ตีพิมพ์ระหว่างปีพ.ศ. 2517-2539 จานวน 9 เล่มมีบทร้อยกรองรวมทั้งสิ้น 260 เรื่องการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีศึกษางานเขียนต่างๆที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ตีความบทร้อยกรองด้วยระเบียบวิธีทางวรรณคดีวิจารณ์และเสนอผลการวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์ผลการวิจัยพบว่าร้อยกรองของประเสริฐจันดำนับได้ว่าเป็นผลงานที่บ่งชี้ถึงอัตลักษณ์แห่งกวีประชาชนของประเสริฐจันดำอย่างชัดเจนอัตลักษณ์ที่ประมวลได้มีดังนี้คือ 1) อัตลักษณ์ของกวีผู้ไม่ยึดถือรูปแบบตายตัว 2) อัตลักษณ์ของความเป็นคนอีสาน 3) อัตลักษณ์ความเป็นกวีประชาชน 4) อัตลักษณ์กวีผู้จริงใจต่อประชาชนและ 5) อัตลักษณ์แห่งกวีผู้เข้าใจชีวิตธรรมชาติและยึดมั่นศาสนา
          พิไลลักษณ์  สานคำ (2555) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาลำผู้ไทย หมู่บ้านโพนสวาง ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  พบว่า การลำผู้ไทยในหมู่บ้านโพนสวาง ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ นั้นเป็นศิลปะการร้องของชาวผู้ไทยซึ่งเป็นกลุ่มชน ที่อาศัยอยู่แถบภาคอีสานโดยได้อพยพมาจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวมาด้วย โดยลำผู้ไทยนั้นมีความสำพันธ์กับชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่มชน และเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตสำหรับรูปแบบของการลำผู้ไทยนั้นพบว่า ขั้นตอนในการลำผู้ไทยประกอบด้วย 3 ช่วง คือ การลำเกริ่นขึ้นต้น การลำดำเนินเรื่องโต้ตอบกันระหว่าง ชายและหญิง และการลำลงจบ วัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการลำผู้ไทย ของชาวหมู่บ้านโพนสวาง ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ การแต่งกาย ภาษา ความเชื่อ ประเพณี ที่อยู่อาศัย และวัฒนธรรมทางศาสนา ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้การลำผู้ไทยสมบูรณ์และเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งชาวผู้ไทยในตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด
สุระศักดิ์  หวานแท้ (2555)ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิเคราะห์กลอนลาของหมอลาเคนดาเหลาเชิงสุนทรียศาสตร์ ผลการศึกษา พบว่า จากการวิเคราะห์อรรถภาวะรสสุนทรียารมณ์ที่ปรากฏในกลอนลาของหมอลาเคนดาเหลาพบว่ามีอรรถภาวะรสอยู่ 9 ลักษณะใหญ่ๆดังนี้ 1) สิงคารรส (รสแห่งความรัก) ความปรารถนายินดีในรักของชายหญิง 2) หัสสรส (รสแห่งความขบขัน) ความเบิกบานใจ 3) กรุณารส (รสแห่งความโศก) ความเศร้าสะเทือนใจ 4) รุทธรส (รสแห่งความโกรธ) ความเป็นเดือดเป็นแค้น 5) วีรรส (รสแห่งความกล้าหาญ) ความไม่กลัวเกรง 6) ภยานกรส (รสแห่งความกลัว) ความตระหนกตกใจ 7) วิภัจฉรส (รสแห่งความเกลียด) ความไม่ปรารถนายินดี 8) อัพภูตรส (รสแห่งความพิศวง) ความงงงวยอัศจรรย์ใจ 9) สันตรส (รสแห่งความสงบ) ความระงับอรรถภาวะรสทั้งหลายที่ปรากฏในกลอนลาจึงเป็นสุนทรียารมณ์ที่เป็นอรรถรสต่อผู้สดับรับฟัง
ราตรีศรีวิไล  บงสิทธิพร (2554) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง สุนทรียภาพในกลอนลำของหมอลำกลอน : องค์ประกอบและปัจจัยเกื้อหนุนต่อการสร้างสรรค์  ผลการวิจัย พบว่า  ปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการสร้างสรรค์กลอนลำที่มีสุนทรียภาพนั้น ผู้แต่งกลอนลำแต่ละคนนั้น จะต้องมีความรู้ดังต่อไปนี้ คือ 1. ความรู้ด้านเนื้อหา 2. ความรู้ด้านรูปแบบและฉันทลักษณ์ และ 3. ความรู้ด้านศิลปะในการใช้ถ้อยคำ ซึ่งความรู้และทักษะทั้ง 3 ด้านนี้ ได้จากการสั่งสมประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของนักแต่งกลอนลำแต่ละคน ประสบการเหล่านี้ได้แก่ 1. การศึกษาเล่าเรียนทั้งนอกระบบและในระบบโรงเรียน 2. การมีอาชีพศิลปินหมอลำ 3. ประสบการณ์พิเศษในชีวิต 4. การเรียนรู้จากครู 5. การมีประสบการณ์ทางภาษาวรรณกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีจากการบวชเรียน 6. การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง 7. การมีใจรักและขยันหมั่นเพียรด้านการแต่งกลอน และ 8. ความรักในการอ่าน การคิด การสังเกต และการใฝ่ฝัน ของนักแต่งกลอนลำ ประสบการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็มีส่วนช่วย
สิทธิศักดิ์  จำปาแดง (2548) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทของหมอลำในการแก้ปัญหาสังคม ผลการศึกษา พบว่า บทบาทของหมอลำในการแก้ปัญหาสังคมมีบทบาทหลายประการดังนี้ ประการแรก ด้านความมั่นคงของประเทศโดยการแต่งกลอนลำและลำรณรงค์ต่อต้านลัทธิคอมมิวสนิสต์และส่งเสริมประชาธิปไตย ประการที่สองด้านการศึกษา ศิลปินแต่งกลอนลำและลำรณรงค์ให้ประชาชนสนใจการศึกษา ประการที่สามด้านสาธารณสุขมีการรณรงค์ควบคุมจำนวนประชากรการควบคุมโรคติดต่อ และการส่งเสริมการออกกำลังกาย ประการที่สี่ด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการกำจัดสิ่งปฏิกูลในชุมชน ประการที่ห้าด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการรณรงค์ให้เห็นโทษยาเสพติดทุกชนิด         
เสงี่ยม   บึงไสย์  (2533)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทของลำกลอนในด้านการเมือง ผลการศึกษา พบว่า  โลกทัศน์เกี่ยวกับรูปแบบของสังคม เนื้อหาของกลอนลำได้สะท้อนถึงแนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบของสังคมอยู่ 2 ลักษณะ คือ สังคมในอุดมคติ และสังคมที่เป็นจริง ซึ่งได้สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับสังคมในอุดมคติว่า สังคมในอุดมคิต และสังคมที่เป็นจริง ซึ่งได้สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับสังคมในอุดมคติว่า หมายถึง สภาพสังคมที่ดีงามที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญก้าวหน้า ความผาสุก ที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล และเป็นความหวังที่รัฐต้องการจัดสรรให้กับประชาชน ส่วนสังคมที่เป็นจริงนั้น พบกลอนลำที่สะท้อนสภาพสังคมที่เป็นจริงในปัจจุบันหลายประการคือ แนวความคิดเกี่ยวกับความแตกตางของกลุ่มอาชีพในสังคมที่เป็นข้าราชการและเกษตรกร คอรัปชั่นในวงราชการ ปัญหาเกี่ยวกับความยากจนของประชาชน และความคิดเกี่ยวกับการแบ่งชั้นในสังคม ให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษการวางแผนครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพอนามัย การไม่กินปลาดิบ การรู้หนังสือ การปลูกป่าทดแทน

6.1.3 งานวิจัยเกี่ยวกับหมอลำราตรี ศรีวิไล

          วุฒิศักดิ์  กะตะศิลา  (2541)  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทของหมอลำราตรี  ศรีวิไลผู้บุกเบิกลำซิ่ง ผลการศึกษา พบว่า บทบาทด้านการลำหมอลำราตรี  ศรีวิไล รับงานลำทั่วไป ลำช่วยงานของหน่วยราชการ ลำประกวด ลำอัดแผ่นเสียง วีดีทัศน์ และแถบบันทึกเสียงเพื่อการจำหน่ายและเผยแพร่ ด้านการแต่งกลอนลำ หมอลำราตรี ศรีวิไลได้แต่งกลอนลำสำหรับตนเองและลูกศิษย์ ใช้ในงานทั่วไป สำหรับลำประกวด และใช้สำหรับลำรณรงค์เรื่องต่าง ๆ  ที่หน่วยงานราชการขอความอนุเคราะห์มา กลอนลำมีเนื้อหาที่ทันสมัย และทันเหตุการณ์อยู่เสมอ ด้านการบริการ ได้ช่วยเหลือราชการและองค์กรเอกชนโดยการแต่งกลอนลำส่งเข้าร่วมและนำคณะหมอลำไปช่วยงานแสดง ตลอดจนบริจาคทรัพย์ช่วยเหลืองานการกุศลอยู่เสมอ ที่สำคัญ คือสร้างงานให้เยาวชนอีสานมีงานทำ ด้านการสอนลำหมอลำราตรี ศรีวิไล มีวิธีสอนและขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพ มีลูกศิษย์ที่อยู่ประจำและลูกศิษย์ที่เรียนทางไปรษณีย์จำนวนมาก ด้านการบริหารธุรกิจหมอลำ เพื่อรับงานให้ตนเองและลูกศิษย์ มีสำนักงานหมอลำเป็นของตนเอง นอกจากนี้หมอลำราตรี ศรีวิไล ยังสนับสนุนให้ลูกศิษย์เข้าแข่งขันในการประกวดหมอลำจนประสบผลสำเร็จ เป็นจำนวนมาก ด้านการบริการสังคม ได้บริจาคทรัพย์ให้วัดและสถานศึกษาเป็นวิทยากร เข้าร่วมประชุมสัมมนา ให้ความช่วยเหลือเยาวชนโดยการสร้างอาชีพให้แก่เยาวชน ด้านการประยุกต์พัฒนาศิลปะการแสดง ได้พัฒนาลำกลอนจนเกิดเป็นลำกลอนซิ่ง หรือลำซิ่ง มีการนำเอาเครื่องดนตรีในวงดนตรีลูกทุ่งมาใช้สำหรับบรรเลงประกอบลำซิ่ง และยังคงรักษาเครื่องดนตรีอีสานไว้เป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้พัฒนาลำกลอนซิ่งไปสู่ลำซิ่งคอนเสิร์ตในปัจจุบัน
สนอง  คลังพระศรี  (2541) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง หมอลำซิ่ง : กระบวนการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรีของหมอลำในภาคอีสาน
ผลการศึกษา พบว่า หมอลำมีประวัติพัฒนาการ 3 ทาง คือ พัฒนามาจากลัทธิบูชาแถนหรือผีฟ้า  พัฒนามาจากประเพณีความเชื่อในพุทธศาสนา  และพัฒนามาจาก ประเพณีเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว ในด้านองค์ประกอบดนตรีและการแสดงหมอลำซิ่ง พบว่า  หมอลำซิ่งพัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 โดยแนวคิดของหมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรือง และหมอลำราตรี ศรีวิไล ที่ได้นำเอาเครื่องดนตรีตะวันตก ประเภทวงสตริง มาบรรเลงและนำหางเครื่องมาเต้นประกอบการแสดงหมอลำกลอนทำนองขอนแก่น ส่วนบทบาทหมอลำซิ่งในบริบทสังคมและวัฒนธรรมอีสาน พบว่า มีบทบาทเฉพาะในด้านความบันเทิงเท่านั้น ในด้านกระบวนการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรีของหมอลำพบว่า เกิดจากปัจจัยหลายด้านโดยเฉพาะด้านความเชื่อและการเมืองการปกครองจากรัฐบาลส่วนกลาง มีผลต่อกระบวนการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรีของหมอลำในภาคอีสานปัญหาและแนวโน้มของหมอลำซิ่ง พบว่าได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้ฟัง คือกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีรสนิยมไม่ตรงกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มของหมอลำซิ่งในอนาคตอาจจะไม่หลงเหลือร่องรอยของหมอลำกลอนตามแบบฉบับเดิม
พชรวรรณ  พานิคม  (2549) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง ภาพพจน์ที่ปรากฏในหมอลํากลอนซิ่ง ผลการศึกษาพบว่า  การใช้ภาพพจน์ในหมอลำกลอนซิ่ง จำนวนทั้ง 11 ภาพพจน์ ได้แก่ 1) อุปมา 2) อุปลักษณ์ 3) อธิพจน์ 4) นามนัย 5) สมพจน์ 6) บุคลาธิษฐาน 7) ปฏิภาคพจน์ 8) เลียนเสียง 9) ปฏิรูปจน์ 10) อุทาหรณ์ 11) ปฏิปจุฉา  ซึ่งภาพพจน์ทั้ง 11 ชนิดนี้ทำให้หมอลำกลอนซิ่งมีคุณค่าในด้านภาษาและเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารความรู้ ข่าวสารต่าง ๆ แก่ชุมชน
สุภารณี  สาระสา  (2555) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาวิธีการร้อง หมอลำกลอนของราตรีศรีวิไล  บงสิทธิพร ผลการศึกษา พบว่า ประวัติและผลงาน ของราตรีศรีวิไล  บงสิทธิพร  เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2495 ที่อำเภอโกสุมพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม เดิมเชื่อ ราตรีสวัสดิ์ อุ่นทะยา ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ราตรีศรีวิไล และใช้นามสกุลตามสามีคุณวิชิต  บงสิทธิพร  มีลูกด้วยกันสองคน หลังจบประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว เรียนการศึกษานอกโรงเรียน และศึกษาสูงขึ้นไปเรียนจนจบปริญญาโท และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาดุริยางค์ศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่เยาว์แม่ราตรีศรีวิไล  บงสิทธิพรได้ศึกษาวิชาชีพหมอลำกลอน การแต่งกลอนลำ จากบิดา มารดา พี่ชาย และพี่สาว เธอมีพรสวรรค์และแรงบันดาลใจสูงส่ง จนยึดเป็นอาชีพตลอดมา ปี พ.ศ. 2529 แม่ราตรีศรีวิไล  บงสิทธิพร ได้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นหมอลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) ขึ้นจนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ และได้สร้างผลงานอย่างมากมายทั้งในเชิงทำมาหากิน และในการช่วยเหลือทางราชการในโครงการรณรงค์ส่งเสริมต่าง ๆ ของรัฐ ให้ไปแสดงช่วยงานสาธารณะในโครงการรรณงค์ส่งเสริมวัฒนธรรม และเผยแพร่ข่าวสารบ้านเมืองเพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ ปี พ.ศ. 2547 แม่ราตรีศรีวิไล  บงสิทธิพร ได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษณ์ภูมิปัญญาไทย
          การฝึกหายใจใช้วิธีการดำน้ำลงไปกลั้นหายใจให้ได้นานที่สุด ควบคุมลมหลายใจโดยค่อย ๆผ่อนลมออกมา และหายใจให้สอดคล้องกับวรรคตอนของเนื้อร้อง การฝึกทำนองและจังหวะจะฝึกทำนองกลอนลำทุกประเภท รวมทั้งทำนองที่เป็นรูปแบบเฉพาะของการร้องหมอลำ ฝึกคำร้องโดยการอ่านหนังสือ อ่านกลอนลำออกเสียงเป็นคำหรือกลุ่มคำ การฝึกอารมณ์เพลงจะศึกษาเนื้อหาและจดจำกลอนลำให้ขึ้นใจทำให้ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดี
          ขนบธรรมเนียมในการแสดงที่ถือปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดคือการไหว้ครูก่อนการแสดงทุกครั้งการแต่งกายที่มีความเหมาะสมสวยงาม ยึดหลักความสุภาพเรียบร้อยและนิยมแต่งด้วยผ้าพื้นเมืองเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง คือ แคน ส่วนด้านเวที แสง เสียง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
          เนื้อหาของกลอนลำทั้ง 3 ทำนอง บรรยายธรรมชาติตามชนบทของชาวอีสาน วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้าน การใช้ภาษาถิ่นอีสานและภาษาไทยกลางเป็นหลัก ถ้อยคำที่ใช้แสดงออกถึงอารมณ์ต่าง ๆ  มีการเล่นคำซ้ำ คำเสริม อย่างเหมาะสม จังหวะยืดหยุ่นได้ตามอารมณ์ ยึดลูกตกเป็นหลัก
จักรกฤช   รักษาจันทร์  (2554) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง วิธีการร้องหมอลำ  แม่ครูราตรี  ศรีวิไล  ผลการศึกษา พบว่า เทคนิควิธีการขับร้องหมอลำของแม่ครูราตรี  ศรีวิไล  ที่ค้นพบมีทั้งหมด  34  เทคนิค  ซึ่งกลอนลำทั้ง  6  กลอนนี้  เทคนิคที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์มากที่สุดคือ  เทคนิคการกระตุกลูกคอและยังถือว่าเทคนิคนี้เกิดขึ้นในทุกกลอนลำที่นำมาวิเคราะห์ด้วย  เทคนิคการร้องที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของแม่ครูราตรี  ศรีวิไล นั่นก็คือ  เทคนิคการทำเสียงหม้อน้ำฮ้อนฟ๊ด

บทความที่ได้รับความนิยม

ข่าวเรียกบรรจุครูทั่วไทย อ่านต่อได้ที่: http://www.kruwandee.com/widget.html

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน