17 มิถุนายน 2564

วัฒนธรรมอีสาน

 

วัฒนธรรมอีสาน

1.3.1    ความหมายของวัฒนธรรม

                   อัมพร  สุคันธวนิช  และศรีรัฐ โกวงศ์ (2555)  ได้กล่าวว่า วัฒนธรรม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการดำรงชีพจนทำให้กลุ่มคนในสังคมยอมรับและพร้อมที่จะปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งหากสังคมใดสังคมหนึ่งยอมรับและนำไปใช้แล้วก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้นไป

                   วิศาล  ศรีมหาวโร (2556) ได้กล่าวว่า วัฒนธรรม หมายถึง การดำเนินชีวิตของกลุ่มคนที่มีแบบแผน มีการถ่ายทอดเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนในสังคมเดียวกันผ่าน ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางสังคมจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกลุ่มอย่างไม่ขาดสาย

                   เพิ่มศักดิ์  วรรลยางกูล (2550) ได้กล่าวว่า วัฒนธรรม หมายถึง ทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ภาษา ประเพณี ศาสนา ฯลฯ รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในกลุ่มสังคมที่ตนดำรงชีพอยู่

                   งามพิศ  สัตย์สงวน (2538) ได้กล่าวว่า วัฒนธรรม คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นของกลุ่มคนในสังคม

                   อมรา  พงศาพิชญ์ (2553)  ได้กล่าวว่า วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์จงใจสร้างขึ้นมาโดยไม่ใช่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ เมื่อมนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้นมาแล้วก็จะต้องมีการถ่ายทอดให้มนุษย์ได้เกิดการเรียนรู้จนสามารถเข้าใจถึง ประเพณี และขนบของสังคมที่ตนเองอยู่ และเข้าใจแจ่มแจ้งว่าสิ่งใด ดีสิ่งใดไม่ดีด้วย

                   อภิญญา เฟื้องฟูสกุล (2553)  ได้กล่าวว่า วัฒนธรรมในทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา คือ แบบแผนพฤติกรรมของสังคมในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนสิ่งต่าง ๆ เช่น สัญลักษณ์ทางศาสนา ศิลปะ เป็นต้น วัฒนธรรมจะถูกถ่ายทอดในระบบความคิด ความรู้สึก ค่านิยม เรียกว่า นามธรรม และนำไปปฏิบัติ เช่น พิธีกรรม ส่วนงานศิลปะ เรียกว่า รูปแบบ

                   ศิริรัตน์  แอดสกุล (2557)  ได้กล่าวว่า วัฒนธรรม คือ วิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนสังคมหนึ่ง ๆ

                   ศิริพันธ์  ถาวรทวีวงษ์ (2553)   ได้กล่าวว่า วัฒนธรรม คือ รูปแบบแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสิ่งเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดในกลุ่มของคนในสังคมนั้น ๆ ด้วยความสัมพันธ์ของมันเอง

                   ธัญญา  สังขพันธานนท์ (2558)  ได้อธิบายว่า วัฒนธรรม อาจมีความหมายอยู่  3 นัยยะ คือ  1) มนุษย์สร้างสรรค์วัฒนธรรมมาใช้เพื่อการดำรงชีวิต  2) วัฒนธรรมมีผลต่อจิตใจและหล่อหลอมสังคมให้มีความทรงจำที่ดีในชาติ  3) สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่นวัตถุหรือความเชื่อ ก็จะเห็นวัฒนธรรมของคนนั้น

                   ราชบัณฑิตยสถาน (2542)  ได้ ให้ความหมายของวัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย การแต่งกาย การกิน และวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมของชนเผ่า

                   จากที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นทั้งรูปแบบนามธรรม และรูปธรรม ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และคนในกลุ่มยอมรับเข้ามาใช้กันในกลุ่ม จนเกิดระเบียบแบบแผนขึ้น จนสามารถถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นไม่มีวันสิ้นสุดถึงแม้พฤติกรรมหรือกลุ่มคนจะมีการเปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้วก็ตาม วัฒนธรรมก็ยังมีเนื้อหาและวัตถุประสงค์เดิมอยู่เสมอ

1.3.2    เนื้อหาวัฒนธรรม

                   บุญลือ  วันทายนต์ (2539)  ได้รวบรวมศึกษาการจัดเนื้อหาของวัฒนธรรม เพื่อกำหนดรูปแบบพฤติกรรมของสังคมที่อยู่คนละกลุ่มในแต่ละสังคมไว้ ซึ่งเนื้อหาของวัฒนธรรมทั่วไป แบ่งออกได้             2 ประเภท คือ 1) วัฒนธรรมทางวัตถุ (Material  Culture) คือวัฒนธรรมที่สามารถจับต้องได้  และ 2)  วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (Non-material Culture) คือ วัฒนธรรมที่มองไม่เห็น

1.3.3    ประเภทของวัฒนธรรม

                   นอกจากบุญลือ  วันทายนต์  (2539)  ได้แบ่งเนื้อหาของวัฒนธรรมแล้ว ก็ยังได้ศึกษาการจัดประเภทของวัฒนธรรมไว้อีก คือ การจัดแบ่งประเภทของวัฒนธรรมนี้จัดทำไว้เพื่อสนองต่อบริบทของแต่ละสังคม ทั้งนี้มักขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสังคมนั้นด้วย ซึ่ง บุญลือ  วันทายนต์ (2539)   ได้อ้างอิงการจัดประเภทของวัฒนธรรมในหนังสือ Man and Culture ของ Clark Wissler ไว้ 9 ประการด้วยกัน ดังนี้

                   1.3.3.1  คำพูด เช่น ภาษา รวมไปถึงระบบการเขียนด้วย

                   1.3.3.2 สิ่งที่เกี่ยวกับวัตถุ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การคมนาคม การแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ

                   1.3.3.3 ศิลปะ เช่น การแกะสลัก การระบายสี การวาดเขียน และดนตรี

                   1.3.3.4 นิยายปรัมปรา หรือเทพนิยาย ต่าง ๆ เช่น ตำราสมุนไพร ตำราดูดวง ตำนานน้ำเต้าปุง ตำนานปู่สังกะสาย่าสังกะสี

                   1.3.3.5 การปฏิบัติทางศาสนา เช่น การปฏิบัติต่อคนเจ็บ การปฏิบัติต่อคนตาย

                             1.3.3.6 ครอบครัวและระบบทางสังคม เช่น การแต่งงาน การนับถือเครือญาติ กีฬา และการละเล่นต่าง ๆ

                   1.3.3.7 ทรัพย์สมบัติ เช่น สังหาริมทรัพย์ การค้า

                   1.3.3.8 รัฐบาล และการปกครอง เช่น การเมือง กฎหมาย

                   1.3.3.9 การสงคราม เช่น การทหาร

                   สุรพงษ์ ลือทองจักร (2552) ได้อ้างจากเอกสารเกี่ยวกับวัฒนธรรม กรมวัฒนธรรม (2494) ซึ่งได้แบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

                             1)  คติธรรม คือ วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับหลักดำเนินชีวิตของมนุษย์

                             2)  เนติธรรม คือ วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย รวมทั้งระเบียบประเพณี

                             3)  วัตถุธรรม คือ วัฒนธรรมทางวัตถุที่สามารจับต้องได้

                             4)  สหธรรม คือ วัฒนธรรมทางสังคม ที่ควบคุมสังคมให้อยู่อย่างสงบสุข

                                 จากที่กล่าวมาในด้านของเนื้อหาวัฒนธรรมและประเภทของวัฒนธรรมก็ยิ่งทำให้ง่ายขึ้นต่อการศึกษาวัฒนธรรมในสังคมต่าง ๆ ที่มีระบบแบบแผนที่ต่างกันออกไป หากจะกล่าวไปแล้วประเทศไทยได้แบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 4 ภาคด้วยกัน คือ วัฒนธรรมภาคกลาง วัฒนธรรมภาคเหนือ วัฒนธรรมภาคใต้ และวัฒนธรรมภาคอีสาน ซึ่งแต่ละภาคก็ล้วนแต่มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองทั้งสิ้น เมื่อศึกษาลึกลงจะเห็นได้ว่า ภาคที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายที่สุดใน 4 ภาคที่กล่าวมา คือ ภาคอีสาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาคอีสานมีภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายประเทศซึ่งอาจมีผลทำให้วัฒนธรรมอีสานมีความหลายหลายไปด้วยก็ได้

1.3.4    วัฒนธรรมอีสาน

                    สุรพงษ์  ลือทองจักร (2552 อ้างจาก  กรมการวัฒนธรรม,  2494) ได้แบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 4 ประเภท คือ คติธรรม เนติธรรม วัตถุธรรม และสหธรรม ซึ่งเป็นการแบ่งเนื้อหาของวัฒนธรรมได้ครอบคลุมในด้านต่าง ๆ มากที่สุด  ผู้วิจัยขอใช้กรอบประเภทของวัฒนธรรมทั้ง 4 ประเภท มาเป็นกรอบในการศึกษาวัฒนธรรมของอีสานเพื่อที่จะได้ทราบว่า วัฒนธรรมของอีสานมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ และมีความสำคัญเพียงใดต่อวิถีชีวิตของคนอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

                    1.3.4.1  คติธรรม

                             ความเชื่อของมนุษย์นั้นเกิดจากหลายปัจจัยทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับ สภาพภูมิศาสตร์ สภาพบริบทพื้นที่ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ ความเชื่อของคนมีอยู่ทุกประเทศ ความเชื่อนั้นก็เป็นวัฒนธรรมอีกประเภทหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งในสังคมอีสานที่ก็เช่นเดียวกันต่างก็มีความเชื่อที่เกิดจากอดีตทั้งสิ้น ซึ่งชาวอีสานเคยนับถือผีก่อนที่จะมานับถือพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่ได้เลิกนับถือผีเสียเลย แต่ก็ได้นับถือควบคู่กับไปกับศาสนา ซึ่งความเชื่อของคนอีสานมี (พระอริยานุวัตร   เขมจารีเถระ,  2528) ดังนี้

                             1)   เชื่อเรื่องฤกษ์ยาม เช่น เมื่อต้องการปลูกบ้านหนึ่งหลังชาวอีสานจะทำการเชิญผู้ที่มีอาคม หรือผู้ที่สามารถดูดวงได้มาดูฤกษ์ยามให้ว่า วันใดควรที่จะต้องเสาเอกได้ แม้แต่กระทั่งการแต่งงาน คู่บ่าวสาวก็จะพากันไปหาพระเพื่อให้ดูฤกษ์ยามให้ว่า วัน เดือน ปี ใดที่เป็นมงคลเหมาะแก่การแต่งงาน หากฝ่าฝืนด้วยการแต่งโดยพลการ ไม่หาฤกษ์ยามให้ดีเสียก่อนแล้ว ชีวิตหลังแต่งงานอาจจะไม่เจริญ ฉะนั้นฤกษ์ยามจึงสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์และคนอีสานมาโดยตลอด

                             2)  เชื่อเรื่องผีสางเทวดา นางไม้ เช่น บริเวณหมู่บ้านจะมีศาลสร้างเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณที่ป่ารกร้างดูแล้วน่าเกรงขามเป็นเอามาก ซึ่งศาลนี้ชาวบ้านจะเรียกว่า ศาลปู่ตา ชาวบ้านเชื่อว่าศาลปู่ตานี้มีเทวดารักษาอยู่จะช่วยให้ปกปักรักษาชาวบ้านให้พ้นภัยจากอันตรายต่าง ๆ ได้ และศาลปู่ตายังช่วยปกปักผืนป่าไม้ไม่ให้ถูกรุกรานอีกด้วย เพราะไม่มีใครกล้าผ่านเข้าไปตัดต้นไม้ เพราะกลัวผีจะมาทำร้าย จึงทำให้หมู่บ้านสงบสุข และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และแหล่งน้ำลำธารที่เลี้ยงหมู่บ้านเรื่อยมา

                             3) เชื่อเรื่องพระภูมิเมือง เช่น ในทุกหมู่บ้าน และทุกจังหวัด ชาวบ้านเชื่อว่าจะมีเทวดาอารักษ์คอยปกปักรักษาอยู่ เรียกว่า มเหศักดิ์เมือง และเมื่อใดชาวบ้านปลูกศาลาให้มั่นคงแล้วจะเรียกว่า ศาลเจ้ามเหศักดิ์ ซึ่งหมายถึงผู้รักษาบ้านเมือง ดังนั้นศาลหลักเมืองนี้ จึงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นสถานที่กราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้ที่ไปเยือนในเขตเมืองนั้น ๆ

                             4) เชื่อเรื่องผีวิญญาณบรรพบุรุษ คือ ชาวอีสานมีความเชื่อดั่งเดิมเป็นทุนอยู่แล้ว ซึ่งความเชื่อเหล่านั้นก็ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การที่ชาวอีสานเชื่อว่าญาติพี่น้องที่จากโลกนี้ไปแล้วนั้นจะยังคงกลับมาปกปักดูแลลูกหลานเขาอยู่ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนแม้กระทั่งจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น จะเห็นได้จากประเพณีบุญเดือน 10 คือบุญข้าวสาก ซึ่งเหล่าบันดาลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่จะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นประจำทุกปี

                             5) เชื่อเรื่องรางสังหรณ์ เช่นผู้ที่ชอบนิมิตเห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วนำมาพยากรณ์หากฝันดีก็จะทำให้เกิดความพึงพอใจในฝันนั้น แต่ถ้าหากฝันร้ายก็จะทำให้ผู้ที่ฝันเกิดความกังวลใจหากยังไม่สบายใจก็อาจจะไปวัดให้พระอาบน้ำมนต์เพื่อเป็นการแก้เคราะห์ก็ได้ แล้วลางร้ายนั้นก็จะได้เบาบางลง

                             6) เชื่อเรื่องจอมปลวกหมู่สี ซึ่งจอมปลวกหมู่สีนี้จะขึ้นบริเวณใต้ถุนบ้าน แต่ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะเข้าไปวุ่นวายกับจอมปลวกนี้มากนัก เพราะกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายขึ้นกับตนและครอบครัว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนิมนต์พระสงฆ์ มาสวดถอดจอมปลวกหมู่สีนี้ออกไปไว้ที่อื่นแทน จึงจะทำให้เจ้าของบ้าเกิดความสบายใจ

                             7) เชื่อเรื่องลางอีเร้ง จับหลังคาเรือน ซึ่งหากมีอีเร้งบินมาจับหลังคาบ้านของใคร ชาวอีสานจะบอกทันทีว่าบ้านนั้นจะเกิดการทะเลาวิวาท และทำให้บ้านแตกสาแหรกขาดจึงจำเป็นต้องให้ผู้ที่มีคาถาอาคมหรือพระสงฆ์ที่เก่งวิชาด้านไสยศาสตร์ มาปัดเป่าทำพิธี จะทำให้เรื่องที่ร้ายแรงกลับกลายเบาบางขึ้นมาได้

                             8) เชื่อเรื่องลางนกเค้าร้อง กู่หูก กู้หูก  หากใครได้ยินเสียงนกเค้าร้อง กู่หูก       กู้หูก หมายถึง ผีมาเรียกเอาขวัญ หรือวิญญาณของคนออกจากร่างไป หากนกเค้าร้องหนักมากก็จะทำให้มีคนถึงขั้นเสียชีวิตไปเลยก็มี ดังนั้น ผู้ที่ได้ยินเสียงนกเช่นนี้ร้องก็จะไปอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ เพื่อลดรางร้ายให้เบาลง  

                               นอกจากความเชื่อเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ยังไม่ความเชื่ออีกประเภทหนึ่ง คือ โสก หรือ โฉลก หมายถึง ความพอดี หรือ กริยาของคนที่แสดงออกมาด้วยความพอดี เช่น โสกหน้าคน โสกเสาเฮือน โสกบันได โสกแป้นเฮือน โสกกลอนเฮือน โสกผู้ชาย โสกผู้หญิง ฯลฯ  จะเห็นได้ว่า โศกที่หมายถึงความพอดีนี้สามารถใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากให้เกิดความพอดี และหากนำโสกมาใช้กับคนก็หมายถึงให้รู้จักความพอดีรู้กาลเทศะ  และอีกอย่างโสกนี้ยังสามารถใช้ดูฤกษ์ยามได้ด้วย (ประมวล พิมพ์เสน,   ...)   ตัวอย่างโสกปลูกพืช

 

วันอาทิตย์       ปลูกเอาฮากเอาแนว      นี้แหลวแม่นเผือกกับมัน

วันจันทร์         ปลูกเอาลำเอาต้น        บ่พ้นอ้อ กับปอ

วันอังคาร        ปลูกเอาก้านเอาใบ       อยู่ไฮ่แมนผักกาดผักชี

วันพุธ            ปลูกเอาดอก              อันใด๋ออกดอกแมนเบิ๊ดสู่แนว

วันพฤหัสบดี     ปลูกเอาหน่วย            หวานปากจ้วยๆ หมากม่วง หมากทัน

วันศุกร์           ปลูกเอาหน่อเอาแนว    อันใด๋กะได้แหลวเบิ๊ดแท้สู่อัน

วันเสาร์                    ปลูกเอาใบ                ในสวนมีแต่คามกับมอน

วิทยาลัยครูมหาสารคาม,  (2522) ได้นำเสนอฤกษ์ยามอีกประเภท ตัวอย่าง คือ วันแฮกทำนา

วันอาทิตย์       ให้แฮกนา

วันจันทร์         ให้แฮกหว่านกล้า

วันอังคาร        สู่ขวัญเข้า

วันพุธ เสาร์      แถหญ้าทาลาน

วันพฤหัสบดี     เอาข้าวขึ้นลาน

วันพุธ            แฮกฟาดเข้า (ข้าว)

                             จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของความเชื่ออีสานที่เป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความเชื่อเหล่านี้ก็เปรียบได้กับการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่ง เพื่อให้คนในหมู่บ้านได้เคารพยำเกรงกัน และในปัจจุบันนี้คนอีสานก็ยังมีความเชื่อเหล่านี้อยู่เช่นเคย ไม่ได้ลืมเลือนแต่อย่างใด

                   1.3.4.2 เนติธรรม

                                      คนอีสานมีการควบคุมทางสังคมและมีประเพณีที่ทุกจังหวัดยึดถือร่วมกันมาที่เรียกว่า ประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งเป็นมูลมังมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน  คำว่า ฮีตสิบสอง จะเกี่ยวข้องกับประเพณี 12 เดือน ส่วนคำว่าคองสิบสี่ จะเกี่ยวกับกฎหมายของกษัตริย์ พระสงฆ์ และประชาชน 14 ข้อ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ชาวอีสานนิยมเรียกกันว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ (สำลี  รักสุทธี.  2553;  หนังสืออนุสรห์ งานทำบุญนมัสการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุพระอรหันต์ รัตนฉัตรบรรจุประดิษฐาน ,  2553  ).  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

                             ฮีตสิบสอง หรือประเพณีสิบสองเดือนของอีสานที่สืบทอดต่อกันมาจาก ปู ย่าตา ยาย ได้แก่

                             1) เดือนเจียง  หรือ เดือนอ้าย  เป็นประเพณีของบุญเข้ากรรม ในเดือนนี้พระภิกษุสงฆ์จะจำศีล เข้าพิธีกรรมที่เรียกว่า ปริวาสกรรม และสารภาพบาปต่อหน้าพระสงฆ์เพื่อพ้นจากการอาบัติสังฆาทิเสส กันในเดือนนี้

                             2) เดือนยี่ ทำบุญคูณลาน คำว่าคูณลาน คือ คูณข้าว หลังจากที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำข้าวไปกองไว้ที่ลาน แล้วก็จะร่วมกันทำบุญเพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่โพสพ ที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมนุษย์มาจนถึงวันนี้

                             3) เดือนสาม บุญข้าวจี่ ในเดือนนี้ เมื่อนำข้าวขึ้นเล้าหรือยุ้งฉางแล้ว ชาวบ้านก็จะนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นเป็นก้อน ๆ แล้วนำไปย่างไฟเรียกว่า ข้าวจี่ แล้วนำข้าวจี่นั้นไปทำบุญ ชาวบ้านเชื่อกันว่าจะได้รับอานิสงค์ผลบุญมากที่สุดเมื่อข้าวจี่ที่ตนได้นำไปถวายพระ

                             4) เดือนสี่ บุญพระเวส ในเดือนนี้เป็นเดือนที่ชาวบ้านจะเข้าวัดฟังเทศน์เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ซึ่งบุญพระเวสนี้จะเรียกว่า บุญมหาชาติ หากผู้ใดสามารถฟังเทศน์พระเวสสันดรจบครบทุกกัณฑ์ ภายในวันเดียวแล้ว  ภายในภพชาติต่อไปก็จะได้ไปเกิดอยู่ในโลกของพระศรีอาริยเมตไตรย ดังนั้นเมื่อถึงบุญพระเวสชาวบ้านจึงร่วมใจกันไปฟังเทศน์มหาชาติและทำบุญกันสืบมา

                             5) เดือนห้า บุญสงกรานต์ ในเดือนนี้ชาวบ้านจะเตรียมน้ำหอม ดอกไม้ นำน้ำใส่ขันและนำไปสรงน้ำขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ พร้อมนำน้ำไปสรงธาตุกระดูกบรรพบุรุษ ที่ได้ล่วงลับไปแล้วให้ท่านคอยปกปักรักษาลูกหลาน และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูด้วย

                             6) เดือนหกบุญบั้งไฟ ในเดือนนี้จะมีอยู่ 2 บุญ คือ บุญวิสาขบูชา ซึ่งชาวบ้านจะมีการเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา และบุญบังไฟ ชาวบ้านจะทำการแห่บั้งไฟ เพื่อขอฝนในฤดูทำนาซึ่งเดือนนี้จะเป็นเดือนที่สนุกครึกครื้นมากสำหรับชาวอีสาน

                             7) เดือนเจ็ด บุญซำฮะ เป็นเดือนที่ต้องทำพิธีบุญให้กับ ศาลหลักเมือง ผีตาแฮก ผีไร่ ผีนา ผีปู่ตา เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณ

                             8) เดือนแปด บุญเข้าพรรษา ในเดือนนี้จะมีการถวายเทียนจำพรรษา ทำบุญตักบาตร และฟังเทศน์นา ซึ่งชาวบ้านก็จะนำขี้ผึ้งมาหล่อเทียนและทำดอกไม้จากขี้ผึ้งแห่ไปสมทบถวายที่วัดพร้อมทั้งเวียนเทียนด้วย

                             9) เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน  เดือนนี้เป็นเดือนที่ต้องอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ตาย ชาวบ้านจึงได้เตรียม กับข้าว อาหารหวานคาว หมากพลูใส่ใบตองกล้วย แล้วไปวางไว้ตามต้นไม้ หรือพื้นหญ้า เพื่อให้ผีญาติได้มารับเอาไปกิน

                             10) เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนนี้จะทำเหมือนกับบุญข้าวประดับดิน ซึ่งเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

                             11) เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา เดือนนี้พระสงฆ์จะออกวัสสาปวารณา จะมีการจุดโคมไฟหรือ จุดประทีปและทำบุญเพื่อเป็นศิริมงคล

                             12) เดือนสิบสิอง บุญกฐิน เดือนนี้ จะเป็นเดือนที่ร่วมกันทำกฐินเพื่อถวายแก่วัดที่มีคนจองอัฏฐบริขาร ของจำเป็นได้แก่ บาตร สังฆาฏิ จีวร สบง มีดโกน มีดตัดเล็บ ผ้ากรอง สายประคต และเข็ม

                             นอกจากฮีตสิบสองที่เป็นประเพณีแล้ว ชาวอีสานยังกฎหมาย ที่เรียกว่า     ครองสิบสี่ ไว้เพื่อปกครองบ้านเมือง (พระอริยานุวัตร เขมจารีเถระ,  2528) ดังนี้

                             1) หูเมือง คือ ราชทูตของแต่ละเมือง

                             2) ตาเมือง คือ ปราชญ์ผู้มีความรู้ ด้านอักษรบาลี

                             3)  แก่นเมือง คือ พระสงฆ์ที่มั่นคงพระธรรมวินัย

4)  ประตูเมือง คือ อาวุธปกป้องบ้านเมือง

5)  รากเมือง คือ หมอโหราศาสตร์ที่คอยตรวจดูดวงชะตา

6)  เหง้าเมือง คือ ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ปกครองหมู่บ้าน

7)  ฝาเมือง คือ ทหารผู้เชี่ยวชาญการรบ

8)  ชื่อเมือง คือ ผู้เฒ่าผู้แก่หรือต้นตระกูล

9)  แปเมือง คือ เสนาอำมาตรผู้มีศีลธรรม

10)  เขตเมือง คือ ผู้รักษาเขตแดนบ้านเมือง

11) ใจเมือง คือ พระมหากษัตริย์

12) ค่าเมือง คือ เงินทองของเมือง

13) สติเมือง คือ หมอผู้รักษาคนป่วย

14) เมฆ หมอกเมือง คือ มเหศักดิ์หลักเมือง ศาลปู่ตา

                                      จากการทำบุญตามฮีตคองประเพณีดังกล่าวแล้ว ชาวอีสานยังเอาใจใส่ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย อาหารการกินอีกด้วย ซึ่งพื้นฐานความเป็นอยู่ของชาวอีสานนั้นก็จะทราบดีแล้วว่า ชาวอีสานมีวิถีชีวิตอยู่กันแบบเรียบง่าย และอยู่อย่างพอเพียงตามสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในหลาย ๆ อย่างเท่าใดนัก

 

 

                   1.3.4.3 วัตถุธรรม

                             วัตถุธรรมเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ จิตกรรม วรรณกรรม อาหารฯลฯ  วัตถุธรรมที่สัมพันธ์กับการดำรงชีวิตคนอีสานมีดังนี้

                             1) เครื่องแต่งกาย-การแต่งกาย  ซึ่งการแต่งกายของมนุษย์มีปัจจัยการแต่งกายที่แตกต่างกันทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสภาพลมฟ้าอากาศ การรับวัฒนธรรม ถ่ายเทวัฒนธรรม ของคนต่างกลุ่มชน ซึ่งหากย้อนไปในสมัยของการแต่งกายของอ้ายลาวนั้น ชายและหญิงจะนุงกางเกง สวมเสื้อแขนสั้นด้านนอกส่วน ด้านในสวมเสื้อแขนยาวและต่อมาผู้หญิงนุ่งผ้านุ่งแทนกางเกง และมีการสวมเสื้อป้ายพร้อมทั้งประดับตกแต่งด้วยการสวมกำไร และสร้อยคอ เป็นต้น (บุปผา บุญทิพย์,  2543)

                             2)  ที่อยู่อาศัย  ของคนอีสานเวลาปลูกเรือนมักจะวางแผนการใช้พื้นที่จากเรือนที่ปลูกอย่างคุ้มค่า ซึ่งมักสร้างบ้านที่มีใต้ถุนเพื่อเอาไว้เลี้ยงสัตว์เช่น ทำเป็นคอกควาย คอกวัว เล้าไก่ เป็นต้น หรือแม้แต่ตัวบ้านเองหากสมาชิกคนใดในครอบครัวแต่งงานก็จะขยายพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเรือนออกไปเรียกว่า ตูบต่อเหล้า ลักษณะเฮือนของอีสานจะมีอยู่ 3 แบบ คือ  เฮือนเกย เป็นเฮือนที่เกยหรือชานโล่ง หลังคายื่นออกด้านข้างเฮือน ชานโล่งจะมีพื้นที่ต่ำกว่าระดับพื้นเฮือนใหญ่ ใช้เป็นที่ทานข้าวและรับแขก  ส่วนเฮือนโข่ง มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเฮือนเกย แต่โครงสร้างรูปหลังคาจะต่างกัน และเฮือนแฝด จะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับเฮือนโข่ง  เฮือนทั้งสามแบบนี้ มีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เป็นเนื้อที่การใช้สอยเพิ่มเติม  ได้แก่ ชานแดด เป็นชานโล่งยื่นออกจากตัวเฮือน เฮือนไฟ เป็นครัวใช้ประกอบอาหาร ฮางแอ่งน้ำ หรือรางน้ำ ใช้รองน้ำใส่โอ่ง เล้าข้าว หรือยุ้งข้าว ใช้เก็บข้าวและใต้ถุนยกสูงเพื่อใช้เก็บของหรือทำคอกไก่ (ประพัฒน์  กุสุมานนท์,  2537) การสร้างบ้านของชุมชนอีสานในอดีตส่วนใหญ่ มักจะเป็นไม้ที่หาได้ในป่าและเน้นสร้างบ้านที่มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าจะสร้างเพื่อความสวยงาม แต่ในปัจจุบันนี้บ้านไม้โบราณแบบอีสานเริ่มไม่มีให้เห็นมาก เพราะบ้านในยุคปัจจุบันใช้ปูนก่อสร้างเพื่อความแข็งแรงคงทน และตามยุคสมัย

                              3)  อาหาร  ชุมชนอีสานมักสร้างบ้านไว้บริเวณที่สูงหรือโคก ส่วนบริเวณรอบหมู่บ้านก็จะเป็นที่ลุ่มมีแม่น้ำเพื่อเอาไว้ทำนา ดังนั้น เมื่อเวลาชาวบ้านจะหาอาหารก็จะอาศัยธรรมชาติบริเวณหมู่บ้านนี้ เช่น หาปลาที่แหล่งน้ำในนา หาพืชและสัตว์จากโคกหรือป่า เป็นต้น แหล่งอาหารที่ชาวบ้านหาแยกออกเป็น 3 แหล่งคือ

                                 3.1 อาหารธรรมชาติจากป่า  ภายในป่าของพื้นที่อีสานนั้นเต็มไปด้วยพืชและสัตว์จำนวนมาก ซึ่งพืชได้แก่ หน่อไม้ ผักหวาน เห็ด ส่วนสัตว์ได้แก่ ไก่ป่า กวาง หมูป่า นก เป็นต้น ซึ่งของที่ได้จากป่าเหล่านี้ชาวบ้านมักหามาเลี้ยงชีพภายในครอบครัวเท่านั้น ไม่ได้หามาเพื่อจำหน่ายจึงทำให้ของป่าไม่ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้น ดังนั้นคนอีสานจึงแทบไม่ต้องใช้เงินในการซื้อของเหล่านี้เลย นอกจากของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น

                                 3.2 แหล่งน้ำตามธรรมชาติ  แหล่งน้ำบริเวณหมู่บ้านนอกจากจะเป็นแหล่งใช้อุปโภค บริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งเลี้ยงชีพใช้จับสัตว์น้ำเช่น ปู ปลา กุ้ง หอย รวมทั้งมีพืชน้ำเช่น ผักแว่น ผักกระเฉดน้ำ สายบัว สาหร่าย แหน เป็นต้น

                                          3.3 แหล่งอาหารจากไร่นาและสวนพื้นที่นาของคนอีสานเต็มไปด้วยอาหารที่หลากหลาย ทั้งสัตว์และพืช สัตว์ในไร่นาเช่น กิ้งก่า อึ่งอ่าง งู หนู เขียด กบ แย้ ส่วนพืชผัก เช่นผักกะแยงนา ผักบุ้ง ผักอีฮิน ผักขม เป็นต้น (วัชรี สุน้อยพรม, 2539)  อาหารมีหลายประเภทได้แก่ ประเภททำให้สุกโดยการต้ม เช่น อ่อม แกง ต้ม ประเภทสุกด้วยความร้อนจากไฟโดยตรง เช่น ปิ้ง ย่าง จี่ ประเภทสุกโดยผ่านภาชนะตัวนำ เช่น หมก อ๋อหรืออุ หลาม ประเภทสุกสุกดิบดิบ  เช่นลาบ ก้อย ประเภทน้ำพริก เช่น ป่น แจ่ว แจ่วบอง แจ่วพริกดิบ แจ่วพริกป่น ประเภทซุบได้แก่ ซุบมะเขือยาว ซุบบักมี่ (ขนุน) ซุบหมากแปบ ประเภทตำ ได้แก ตำมะละกอ ตำมะเกลือ ตำแตง ตำหมากยม ประเภทคั่วได้แก่ ดักแด้ ตั๊กแตน ถัวลิสง ประเภททนอมอาหารเช่น ส้มหมู ส้มปลา หม่ำ ไส้กรอก ปลาแดก เป็นต้น (ณิชพันธุ์ระวี  เพ็งพล 2554,  อ้างจาก ชลิต ชัยครรชิต และคนอื่นๆ 2544: 130-131 ; ประมวล พิมพ์เสน.  2546:18-44 )

                             4) วรรณกรรมท้องถิ่น  ซึ่งวรรณกรรมอีสานในอดีตเขียนด้วยตัวอักษรธรรม และอักษรไทยน้อย และได้ตกทอดมาถึงลูกหลานจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมอีสานที่ปรากฏเช่น กลอนลำ นิทานก้อม นิทานพื้นบ้าน บันทึกตำรายา เพลงกล่อมลูก คำสู่ขวัญ ผญาฯลฯ ซึ่งวรรณกรรมที่แพร่หลายที่สุดคือ นิทานพื้นบ้านที่เป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่เล่าสืบกันมานิทานพื้นบ้านเหล่านี้มีสาเหตุเกิดจากความเชื่อซึ่งในสมัยโบราณชาวอีสานมมีความเชื่อเรื่องแถน หรือเทวดา ผีสางนางไม้ เรื่องเหนือธรรมชาติทุกอย่าง จึงเกิดพิธีบูชาแถน เพื่อให้แถนปกปักรักษามวลมนุษย์ หรือไม่ให้มาก่อกวนสร้างความไม่เป็นสุขแก่มนุษย์ แถนที่อยู่ในวรรณกรรมมีหลายเรื่อง เช่น พยาคันคาก ผาแดงนางไอ่ ตั๊กแตนโมคำ เป็นต้น วรรณกรรมนิทานพื้นบ้านเหล่านี้ได้ให้แง่คิดหลายด้าน เช่น คติธรรม บอกถึงตำนานบ้านเมือง สร้างความตลกขบขันบันเทิง เป็นต้น นิทานพื้นบ้านที่ชาวอีสานชื่นชอบมากแต่ในอดีต เช่น จำปาสี่ต้น แก้วหน้าม้า นางแตงอ่อน นางผมหอม นกกระจอก นางสิบสอง ท้าวคำสอน เป็นต้น (ประมวล  พิมพ์เสน, 2545)

                             วรรณกรรมท้องถิ่นอีสานที่กล่าวมาข้างต้น เป็นวรรณกรรมที่อยู่ร่วมกันกับลุ่มน้ำโขงระหว่างอีสานกับลาว ซึ่งมีรูปแบบ ภาษา เนื้อหา ความเชื่อในสังคมที่แตกต่างกัน รูปแบบคำประพันธ์นั้นจะประพันธ์ด้วยรูปแบบโคลงสาร หมายถึง กลอนอ่าน ส่วนภาษาที่ใช้คำ ภาษาถิ่นอีสาน อักษรที่ใช้บันทึกคือ อักษรไทน้อยและอักษรธรรม เนื้อหาของวรรณกรรม เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมนิทาน วรรณกรรมคำสอน วรรณกรรมศาสนา และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด เป็นต้น โครงเรื่องจะเป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ พุทธศาสนา และเรื่องความรักระหว่างหนุ่มสาว ส่วนแก่นเรื่องมักเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม การพลัดพรากเกิดความทุกข์แต่สุดท้ายก็จะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มีคุณธรรม(ดนุพล ไชยสินธุ์,  2553)

                             ชาวอีสานมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมทั้งยังแสดงถึงความสัมพันธ์กันด้วยดีระหว่างคนในชุมชนและคนนอกชุมชน เช่น จะเห็นได้จากประเพณีการผูกเสี่ยว และประเพณีขงแขกทำงานที่ทำให้ชุมชนสัมพันธ์รักใคร่ปองดองกันเรื่องมาย

                   1.3.4.4 สหธรรม

                             ชาวอีสานมีวิถีชีวิตข้องเกี่ยวกับงานบุญประเพณีมาโดยตลอดซึ่งจะเห็นได้จากประเพณีที่ทำตลอดทั้งปี คือ ประเพณีฮีตสิบสอง นอกจากประเพณีฮีตสิบสองที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแล้ว ชาวอีสานยังมีประเพณีที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอยู่ตลอดเวลา เช่น ประเพณีผูกเสี่ยว ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ และประเพณีลงแขก เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

                             1)  ประเพณีผูกเสี่ยว  การผูกเสี่ยวหมายถึงให้คนสองคนได้เป็นเพื่อนที่สามารถแบ่งปันความสุขและความทุกข์แทนกันได้ ซึ่งคำว่าเสี่ยวนี้ มีความหมายมากกว่าคำว่าเพื่อนธรรมดา แต่จะหมายถึง มิตรแท้ที่สามารถตายแทนกันได้  คนที่จะผูกเสี่ยวกันได้ จะต้องมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่แตกต่างกันและมีความสนิทสนมกันมากพอสมควร การผูกเสี่ยวนั้นจะผูกระหว่างชายกับชาย ระหว่างหญิงกับหญิง ที่มีรสนิยม รูปร่าง อายุ ที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น การผูกเสี่ยวนี้ผู้ใหญ่จะใช้เส้นฝ้ายผูกกับข้อมือของเสี่ยวทั้งสองพร้อมกล่าวคำสอนและให้พร เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานและเป็นคนดีของสังคมต่อไป           (บุญเกิด  พิมพ์วรเมธากุล,   2544)

                             2)  ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ  ซึ่งบายศรีสู่ขวัญเป็นประเพณีโบราณที่ชาวอีสานยังยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน บายศรีสู่ขวัญเป็นพิธีมงคล ซึ่งในพิธีบายศรีก็จะมีการสู่ขวัญหรือเรียกขวัญให้เข้าสู่ร่างกาย หากใครที่ป่วยขวัญก็จะเข้าสู่ร่างกายและหายป่วย จิตใจก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ได้ป่วยก็จะมีการสู่ขวัญเพื่อการแต่งงาน บวชนาค ไปทหาร เป็นต้น การสู่ขวัญนั้นมีมูลเหตุอยู่ 2 ประการ คือ 1) การสู่ขวัญในเรื่องดี เช่น ได้โชคลาภ ค้าขายดี ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ 2) สู่ขวัญในเรื่องไม่ดี คือ สะเดาะเคราะห์ จากการประสบอุบัติเหตุ เสียเงินเสียงทองเป็นต้น วิธีการสู่ขวัญ คือ นำบายศรี 3 ชั้น หรือ 5 ชั้น มาวางไว้พื้นที่โล่งดูแล้วอยู่กึ่งกลางพื้นที่นั่งเพื่อทุกคนจะได้นั่งล้อมวงได้ ภายในบายศรีจะประกอบด้วยเครื่องขวัญเช่น เมี่ยง หมาก ข้าวสาร กล้วย ข้าวต้มมัด ขนมรูปเทียน ไก่ ไข่ต้ม ธูป เทียน และฝ้ายผูกแขน หลังจากนั้นพราหมณ์ก็จะดำเนินพิธีสู่ขวัญจนเสร็จ สุดท้ายก็จะนำฝ้ายผูกแขนไปให้ผู้อาวุโสผูกให้เพื่อความเป็นศิริมงคล (สาร  สาระทัศนานันท์,  2551)

                             3)  ประเพณีลงแขก  ซึ่งการลงแขกของชาวอีสานนั้น คือการรวมญาติพี่น้องมาช่วยกันทำงานเช่น ทำนา เกี่ยวข้าว ขนข้าว เป็นต้น โดยการลงแขกนี้เป็นการใช้แรงงานคนที่ไม่มีอามิดสินจ้างแต่อย่างใด การลงแขกนับว่าเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไปในอีสาน ซึ่งมีผลต่อจิตใจ ความเอื้ออาทร ความรักใคร่ปองดอกซึ่งกันและกัน ซึ่งในอีสานมีการลงแขกอยู่หลายประเภทเช่น ลงแขกตำข้าว ลงแขกสร้างบ้าน ลงแขกปลูกเรือน ลงแขกสร้างวัด ลงแขกขุดน้ำส้าง ลงแขกดำนา ลงแขกเคาะข้าว ลงแขกขุดสระ และลงแขกสร้างถนน เป็นต้น จากประเพณีลงแขกดังกล่าวกลายเป็นวัฒนธรรมประจำพื้นถิ่นในอีสาน ซึ่งการลงแขกมีผลดีเพราะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องจ้างแรงงาน แต่อาศัยแรงซึ่งกันและกัน มาจนถึงปัจจุบัน (ปรีชา  พิณทอง, 2551)

                             จากองค์ความรู้ของสังคมและวัฒนธรรมดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากเราสนใจอยากเข้าใจในภาคอีสานแล้ว จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่อง ภูมิศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกี่ยวข้องกับอีสานเสียก่อน หากเมื่อศึกษาพื้นฐานของอีสานได้เข้าใจโดยถี่ถ้วนแล้ว ก็จะเข้าใจสังคมอีสานในด้านของ กลุ่มคน สถานที่ ช่วงเวลา และความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ใช้ในการศึกษาสังคมอีสานที่ถือว่าชัดเจนพอสมควร หากกล่าวถึงสังคมแล้วก็คนหนีไม่พ้นคำว่า วัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมของอีสานเมื่อแบ่งเป็นประเภทจะสามารถแบ่งได้ 4 กลุ่มคือ คติธรรม เนติธรรม วัตถุธรรม และสหธรรม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องราวของสังคมและวัฒนธรรมของอีสานที่ได้สืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่แล้วชาวอีสานเน้นการทำบุญตามประเพณีฮีตสิบสองและการเอื้อเฟื้อน้ำใจช่วยเหลือกันและกันมากที่สุด  หลังจากว่างเว้นจากการทำไร่ ทำนา แล้วชาวอีสานมักจะพักผ่อนหย่อนใจด้วยการสังสรรค์บันเทิง เช่น จ้างหมอลำมางัน หรือมาฉลองในงานบุญประจำปี เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

ข่าวเรียกบรรจุครูทั่วไทย อ่านต่อได้ที่: http://www.kruwandee.com/widget.html

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน