สังคมอีสาน
สังคม คือ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้เข้าใจเรื่องของสังคมมากยิ่งขึ้นผู้วิจัยขอนำเสนอ
ความหมาย ลักษณะองค์ประกอบของสังคม เพื่อจะได้เข้าใจสังคมในภาพรวมของสากล
และสังคมเฉพาะถิ่นอีสาน พอสังเขปดังนี้
1.2.1 ความหมายของสังคม
ปรีชา คุวินทร์พันธุ์ (2553) ได้สรุปความหมายของสังคมไว้หลายมุมมองดังนี้
สังคม คือ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มในที่แห่งเดียวกันเป็นเวลายาวนานมีการสร้างกติกาขึ้นมาใช้ร่วมกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมจนทำให้สังคมอยู่กันอย่างสงบสุข
สังคม คือ กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน มีความสนใจในเรื่องต่าง ๆ
คล้ายคลึงกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
และมีความรู้สึกว่าเข้ากันได้กับคนในกลุ่มเดียวกัน
สังคม คือ กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำกิจกรรมในกลุ่มเดียวกัน
จนสามารถบอกได้ว่ากลุ่มเขากลุ่มเรา
อาภิรมย์ สีดาคำ (2553) ได้ให้ความหมายของสังคมว่า หมายถึง
กลุ่มคนที่มีการสร้างกฎระเบียบขึ้นมาและตกลงใช้ร่วมกันเพื่อความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน
อดุลย์ ตันประยูร (2539) ได้ให้ความหมายของ สังคมว่า
หมายถึง กลุ่มมนุษย์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันภายในกลุ่ม และแยกตัวออกจากมนุษย์กลุ่มอื่น
ๆ หรือ “สังคม”
หมายถึง
กลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันมีความคิดเห็นเหมือนกันใช้ชีวิตร่วมกัน
และมีความรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขเมื่ออยู่ในกลุ่มเดียวกัน
จากที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า สังคม หมายถึง กลุ่มคนที่มีแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกัน
มีความสัมพันธ์ที่คล้ายคลึงกัน มีระเบียบที่ยอมรับและนำมาใช้ร่วมกัน
และความแตกต่างที่นำไปสู่องค์ประกอบอื่น ๆ ที่ไปด้วยกันได้
1.2.2 ลักษณะทั่วไปของสังคม
สังคมแต่ละสังคมมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เพราะลักษณะของสังคมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถบอกถึงองค์ประกอบของแต่ละสังคมได้
เพื่อให้การศึกษาในด้านโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอบของสังคมเด่นชัดขึ้น
ผู้วิจัยจึงขอนำเสนอลักษณะทั่วไปของสังคมในประเด็นต่าง ๆ (สุรพงษ์ ลือทองจักร, 2552) ดังต่อไป
1.2.2.1 สังคมเป็นนามธรรม
(Abstractness of
Society) หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม รักษาขนบประเพณีและปฏิบัติร่วมกัน
ซึ่งความพึงพอใจในการอยู่ร่วมกันนี้ ไม่อาจแทนค่าเป็นสิ่งของได้
เพราะเกิดจากความต้องการและความพอใจของกลุ่มคน หรืออาจเรียกว่า กระบวนการรวมกลุ่มของคนก็ได้
สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงถือได้ว่า
เป็นนามธรรม
1.2.2.2 สมาชิกสังคมต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน
(interdependence in Society) สมาชิกในสังคมต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน
ถึงแม้ว่าจะอยู่ต่างสังคมก็ตาม ก็มิอาจหลีกเลี่ยงการพบเจอและหนีจากความสัมพันธ์ของวิถีมนุษย์ไปได้ซึ่งคนในกลุ่มสังคมเดียวกันอาจมีหน้าที่การทำงานต่างจากกลุ่มตนเอง
แต่ต้องไปทำกับต่างกลุ่มตนจึงทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันในที่สุด
1.2.2.3 สังคมอาจมีทั้งความเหมือนและความต่าง
(Society involves likeness and difference) สมาชิกในสังคมแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน
ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมหรือพื้นฐานของแต่ละคน
ซึ่งสิ่งที่เกิดความแตกต่างเหล่านี้จึงต้องอาศัยเวลาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
1.2.2.4 สังคมมีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง
(Society Involves both cooperation and conflict) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในสังคมเป็นส่วนที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์หรืออาจเรียกว่า
“ความคิดต่าง”
สิ่งเหล่านี้เกิดจากบุคคลบางคนที่มีความสนใจต่างจากกลุ่ม
จึงนำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งมีอยู่ด้วยกันอยู่ทุกสังคม
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ลักษณะของสังคมหนึ่ง ๆ ย่อมมีความแตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
สภาพแวดล้อมและปัจจัยพื้นฐานของคนในกลุ่มสังคมเหล่านั้นด้วย
ซึ่งลักษณะของสังคมสามารถกำหนดองค์ประกอบของสังคมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
1.2.3 องค์ประกอบของสังคม
สุพิศวง ธรรมพันทา (2540) ได้นิยามเบื้องต้นแสดงถึงองค์ประกอบของสังคมไว้ 4 ประการ คือ
1.2.3.1 กลุ่มคน (groups) หมายถึง
บุคคลที่รวมตัวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
จนมีขนาดมากขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มคน
1.2.3.2 สถานที่ (space) หมายถึง บริเวณพื้นที่ของกลุ่มคนที่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นเวลายาวนาน
1.2.3.3 ช่วงเวลา (time) หมายถึง ความยาวนานของผู้คนที่อยู่ร่วมกันจากรุ่นสู่รุ่น
1.2.3.4 ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relations) หมายถึง การที่ผู้คนในกลุ่มของสังคมเดียวกัน
ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมกันสร้างระบบความสัมพันธ์จนเกิดเป็นประโยชน์ร่วมกัน
และปฏิบัติร่วมกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมสังคม
จากที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่า องค์ประกอบของสังคมเปรียบเสมือนโครงสร้างของสังคมที่สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ศึกษาสภาพของสังคมในบริบทต่างๆ
ได้อย่างชัดเจน เช่นถ้าหากเราอยากเข้าใจสังคมของอีสาน
ก็สามารถนำเกณฑ์ขององค์ประกอบนี้ไปใช้ศึกษาก็ย่อมทำได้เช่นกัน
1.2.4 สังคมอีสาน
จากองค์ประกอบของสังคมอีสานที่ สุพิศวง ธรรมพันนา (2540) ได้ให้นิยามเบื้องต้นไว้ 4
ประเภท นั้นผู้วิจัยเห็นว่าสามารถนำมาอธิบายในส่วนต่าง ๆ ของสังคมอีสานได้เพราะองค์ประกอบนี้เปรียบเสมือนเกณฑ์ศึกษาบริบททางด้านสังคมอยู่แล้ว
ผู้วิจัยจึงใช้กรอบนี้ศึกษาสังคมของอีสานใน 4 ประเด็น คือ 1)
กลุ่มคน 2) สถานที่ 3) ช่วงเวลา
และ 4) ความสัมพันธ์ทางสังคม
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.2.4.1 กลุ่มคน ศาตราจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัต (2558: PowerPoint
slides) ได้กล่าวถึงสภาพสังคมอีสานว่ามีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์
แต่ทั้งนี้ความหลากหลายของกลุ่มเหล่านี้มิได้แบ่งแยกกันเด็ดขาดแต่อย่างใด
แต่ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น
2 กลุ่ม คือ
ก. กลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (สาขามอญ-เขมร) กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเจ้าถิ่นของภาคอีสาน
ซึ่งยังแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มย่อย คือ 1)
เขมรถิ่นไทย ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ
และบางส่วนของบุรีรัมย์ 2) กูย (ข่า, ส่วย)
ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของบุรีรัมย์
3) กะโซ่ (ข่าโซ่) ได้แก่ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร
สกลนคร กาฬสินธุ์ และหนองคาย 4) บรู (บลู, ข่าบรู) ได้แก่
จังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร และ 5) ญัฮกรู (ชาวบน) ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา เพชรบูรณ์
ข.
กลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได มี 8 กลุ่มย่อย คือ 1) ไทยโคราช (ไทยเบิ้ง, ไทยเดิ้ง ) ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และบางส่วนของชัยภูมิ
2)
ไทยลาว (กระจายทั่วภาคอีสาน) 3) ไทยโย้ย คือจังหวัดสกลนคร 4) ไทยย้อ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม 5)
กะเลิง ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร 6) ไทยพวน ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย 7) ผู้ไทย ได้แก่จังหวัดนครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร และ 8) ไทยแสก คือ
จังหวัดนครพนม
จะเห็นได้ว่ากลุ่มตระกูลภาษา
ไต-กะได มีการใช้ภาษาไทยลาวมากที่สุดซึ่งได้แพร่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วภาคอีสาน
1.2.4.2 สถานที่ ในชุมชนอีสานโบราณที่เก่าแก่ที่สุด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ บ้านเชียง โนนชัย ทุ่งสัมฤทธิ์ และกลุ่มแม่น้ำมูล
น้ำชีตอนล่าง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2543 อ้างจาก ศรีศักร วัลลิโภดม. 2534: 27-42)
กลุ่มคนเหล่านี้ได้กระจัดกระจ่ายกันอยู่ทั่วอีสาน 2 แห่งคือ แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช หรือที่เรียกกันว่า อีสานเหนือ
และอีสานใต้ โดยแอ่งสกลนคร แบ่งออกเป็น 10 จังหวัด และแอ่งโคราชมีอยู่ 9 จังหวัด ซึ่งทั้งสองสถานที่นี้มีแหล่งน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต คือ
แม่น้ำโขง และลำน้ำน้อยใหญ่สาขาต่าง ๆ (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2540) และการตั้งถิ่นฐานของชาวอีสานนี้มีช่วงเวลาที่เก่าแก่มากนี้อาจเป็นไปได้ว่า
คนอีสานไม่ได้อพยพมาจากที่ใดแต่มีภูมิลำเนาอยู่ที่นี้มาแต่โบราณแล้ว
1.2.4.3 ช่วงเวลา สุจิตต์ วงษ์เทศ (2543 อ้างจาก ศรีศักร วัลลิโภดม. 2534: 27-42) ได้ อธิบายว่า
ชุมชนอีสานได้กระจัดกระจายตัวอยู่บริเวณแอ่งสกลนคร
และแอ่งโคราชซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด เมื่อ 3,000 ปี ที่ผ่านมา จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าในอีสานถูกปกครองด้วยขอมมาก่อน
จนกระทั่งหลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว ก็ไม่พบหลักฐานของขอมอีกเลย ทิ้งระยะห่างประมาณ 200-300 ปี ผ่านมา จนราวพุทธศตวรรษที่ 21 จึงได้ค้นพบจารึกในภาคอีสาน
และบริเวณลุ่มน้ำโขงที่เป็นการเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์ใหม่ คือ
จากรึกนั้นเป็นอักษรไทยน้อย และตัวอักษรธรรม ที่เป็นวัฒนธรรมไทย-ลาว (ธวัช ปุณโณทก, 2537) นับตั้งแต่นั้นมาวัฒนธรรมของกลุ่มไทย-ลาวก็ได้ครอบครองดินแดนแห่งนี้รวมตัวกันเป็นสั่งคมที่มีความยิ่งใหญ่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
1.2.4.4 ความสัมพันธ์ทางสังคม อุดม บัวศรี (2546) ได้อธิบายว่า
การเรียกชื่อเครือญาติในอีสานนั้นได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนี้ 1) พ่อ แม่ เรียกว่า พ่อ แม่ 2) ปู่ ย่า เรียกว่า
พ่อปู่ แม่ย่า 3)ตา ยาย เรียกว่า พ่อตา แม่ยาย 4) พ่อภรรยา เรียกว่า พ่อเฒ่า ส่วนแม่ภรรยา เรียกว่า แม่เฒ่า 5) เขย เรียก ลูกเขย 6) สะใภ้ เรียก ลูกใภ้ 7) พี่เขย เรียก พี่อ้าย 8) พี่สะใภ้เรียก พี่นาง 9) พี่ชายพ่อ เรียกลุง 10) พี่สาวแม่ เรียก ป้า 11) น้องชายพ่อ เรียกอาว12) น้องชายแม่ เรียกพ่อบ่าว 13) น้องสาวแม่เรียกน้า 14) พี่ชายเรียกอ้าย และ 15) พี่สาวเรียก เอื้อยในการเรียกชื่อของระบบเครือญาติอีสานนี้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างแน่นแฟ้น
เพราะเป็นเหมือนกับใยแมงมุมจากสังคมเล็ก ๆ ก็กลายเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่เกิดขึ้น
จึงทำให้สังคมอีสานมีการดำรงชีวิตที่เรียกว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า หรือ
พริกอยู่บ้านเหนือ เกลืออยู่บ้านใต้ เช่นนี้เสมอมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น