17 มิถุนายน 2564

ภาคอีสาน

 ภาคอีสาน

                   คำว่า อีสาน ตามพจนานุกรม ปี พ.. 2525 มีความหมายว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภาษาสันสกฤต อ่านว่า อีศาน มีความหมายว่า พระศิวะ หรือพระรุทระ (ราชบัณฑิตยสถาน,  2525)

                   ภาคอีสานในปัจจุบันประกอบด้วย  20  จังหวัด สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้เป็น 1) กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ และขอนแก่น 2) อีสานกลาง ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และชัยภูมิ 3) อีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งพื้นที่ในภาคอีสานมีทั้งหมด 170,218 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย มีประชากร 21,775,407 คน ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคอีสาน รวมถึงมีประชากรที่มากที่สุดในประเทศไทยจึงส่งผลให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานมีหลายกลุ่มวัฒนธรรมด้วยกันที่อีสานมีหลายกลุ่มวัฒนธรรม  อาจเป็นเพราะว่าบางส่วนเกิดจากลักษณะภูมิศาสตร์ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ทิศตะวันออกและทิศเหนือติดแม่น้ำโขง ทิศใต้ติดประเทศกัมพูชา และทิศตะวันตกติดกับภาคกลาง เป็นต้น (สุจิตต์ วงศ์เทศ,  2543; สุวิทย์   ธีรศาสนวัต,  2557)

                   จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ภาคอีสานมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประชากรมีจำนวนมากตามไปด้วย ในด้านของวัฒนธรรมก็ย่อมมีความหลากหลายด้วยเช่นกัน ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอาจมีปัจจัยหลายอย่างเช่น สภาพภูมิศาสตร์ ภาษา อาชีพ เชื้อชาติ ลัทธิความเชื่อ ศาสนา และระบบการปกครอง ปัจจัยดังกล่าวนี้ต้องอาศัยการศึกษาด้วยวิธี คติชาวบ้าน เมื่อจะศึกษาในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง จำเป็นจะต้องศึกษาสภาพแวดล้อม ได้แก่ สภาพดินฟ้าอากาศ หรือสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละที่ให้ลุ่มลึก ดังเช่นสภาพภูมิศาสตร์ของภาคอีสาน ที่มีพื้นที่ราบสูงและกว้างใหญ่ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย ทำให้เวลาฝนตกลงมาดินไม่อุ้มน้ำหลายพื้นที่ในอีสานจึงแห้งแล้ง อาชีพส่วนใหญ่ของคนอีสานคือ เกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมีหลายภาษา เช่น เขมร ภาษาเลย ภาษาโคราช ภาษาผู้ไท ฯลฯ (บุปผา  บุญทิพย์,  2547)

                   ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจอีสานมากยิ่งขึ้นเราจึงต้องศึกษาภูมิหลังของอีสานในหลายด้านด้วยกัน ซึ่ง อุดม บัวศรี (2546) ได้แบ่งลักษณะการศึกษาอีสานไว้ 5 ด้าน ดังนี้  ด้านภูมิศาสตร์ ด้านโบราณคดี  ด้านประวัติศาสตร์  ด้านเศรษฐกิจ  และด้านสังคม มีรายละเอียดดังนี้

1.1.1    ด้านภูมิศาสตร์

                   ลักษณะภูมิประเทศของอีสานที่เป็นเทือกเขา และที่ราบ ได้แก่

                    1.1.1.1  เทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาดงพญาเย็น เริ่มจาก จังหวัดเลย จนถึงจังหวัดนครราชสีมา  เทือกเขาเพชรบูรณ์ มีความยาว 306 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ อำเภอด้านซ้าย จังหวัดเลย ยาวไปถึงอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ  และ เทือกเขาดงพญาเย็น มีความยาว 129 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ จนถึง จังหวัดนครนายก ภูเขาที่เด่นชัดที่อยู่ตามแนวของเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาดงพญาเย็น คือ ภูกระดึง ภูเรือ ภูหลวง ภูเวียง และภูทอก

                             1.1.1.2 เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก อยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ราบสูงโคราช   เทือกเขาสันกำแพง มีความยาว ประมาณ 185 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัด สระบุรี ยาวไปถึง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว  และเทือกเขาพนมดงรัก มีความยาวประมาณ 544 กิโลเมตร เริ่มจากอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ยาวไปถึง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

                             1.1.1.3  เทือกเขาภูพาน เริ่มจาก อำเภอนากลาง จังหวัดอุดรธานี ผ่านเขตจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ มกดาหาร และสิ้นสุดที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุดรธานี

                             1.1.1.4  ที่ราบแอ่งสกลนคร หรือ อีสานเหนือ ประกอบไปด้วย จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร ซึ่งมีลำน้ำที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำโขง ลำน้ำห้วยหลวง ลำน้ำก่ำ ลำน้ำพุง ลำน้ำเลย ลำน้ำเหนือ และลำน้ำสงคราม ฯลฯ

                             1.1.1.5 ที่ราบแอ่งโคราช หรืออีสานใต้ ประกอบไปด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์  ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ และมีลำน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำมูล  และแม่น้ำชี (สุจิตต์  วงศ์เทศ,  2543)

                                       ลักษณะภูมิประเทศของอีสานที่เป็นเทือกเขาและที่ราบทั้งหมดนี้ มีผลต่อสังคมและวัฒนธรรมอีสานอยู่ไม่น้อย ซึ่งลักษณะภูมิประเทศหรือสภาพแวดล้อมเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดการดำรงชีพของชาวอีสาน เช่น ด้วยอีสานมีภูเขามากเช่นนี้จึงทำให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ป่า หาของป่าเพื่อเป็นการเลี้ยงชีพในครอบครัวจึงไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าอื่นใดเลยหากจำเป็นต้องซื้อชาวบ้านจะซื้อเฉพาะแต่สิ่งที่ตนผลิตไม่ได้หรือไม่มีอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ถึงแม้อีสานจะมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขา แต่ภาคอีสานยังมีแม่น้ำสายสำคัญอยู่ด้วยกัน  3 สาย คือ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง ซึ่ง เติม   กายวิพากย์พจน์กิจ  (2542) ได้แบ่งลักษณะภูมิศาสตร์แม่น้ำออกเป็น  กลุ่ม คือ 1)  ลุ่มน้ำมูลตอนต้น ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ 2) ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ 3) ลุ่มน้ำชี ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และ 4)  ลุ่มน้ำโขง ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย เลย สกลนคร นครพนม  มุกดาหาร และหนองบัวลำภู  ซึ่งแม่น้ำ    3 สายนี้ได้ช่วยให้ชาวอีสานสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการหาของป่า คือ การประมงอีกด้วย

                                       จากลักษณะภูมิศาสตร์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ภาคอีสานมีการกระจายตัวกันของประชากรอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งอีสานมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งก็ได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และข้าวของเครื่องใช้เป็นจำนวนมาก เช่น ที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

1.1.2    ด้านโบราณคดี

                              การศึกษาประวัติศาสตร์ของอีสาน นอกจากศึกษาจากจารึกแหล่งต่าง ๆ แล้ว ยังต้องอาศัยการขุดค้นด้านโบราณคดี และมานุษยวิทยาจากซากที่หักพังไปด้วย เช่นโครงกระดูก หม้อ ไห เป็นต้น ซึ่งในแถบลุ่มน้ำโขง ได้ปรากฏซากเหล่านี้ประมาณ 500,000 ปี มาแล้วนักโบราณคดีได้ค้นพบแหล่งโบราณคดีหลายแห่งและได้ทำการสำรวจสิ่งเหล่านั้นปรากฏว่ามีอายุไม่น้อยกว่า  4000 ปี (สุเนตร โพธิสาร,  2558 )  และในหนังสือวัฒนธรรมอีสานของ อุดม บัวศรี (2546) ได้กล่าวถึงแหล่งโบราณดีของอีสานไว้  ดังนี้

                             1.1.2.1  โนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น สิ่งที่พบ คือ  แหล่งโบราณคดี   โนนนกทานี้ มีอายุประมาณ  5,500-4,500 ปี  สามารถทำเครื่องปั้นดินเผา ทำขวานหิน และรู้จักหล่อสำริด เพราะขุดพบเบ้าสำริด และแม่พิมพ์หินทรายพบโครงกระดูกมนุษย์ประมาณ 205 โครง  ผู้คนในยุคนี้เป็นชุมชนที่มีการทำการเกษตรแล้ว เพราะมีขวานหินที่ใช้ในการตัดต้นไม้ และมีแกลบเป็นส่วนผสมของภาชนะดินเผา

                             1.1.2.2  บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี สิ่งที่พบ คือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนี้มีการแบ่งช่วงอายุเป็น 3 ช่วง โดยศึกษาจากรูปแบบและลวดลายของภาชะได้แก่  ช่วงที่ 1 อายุราว 5,600-3,000 ปี พบ ภาชนะดินเผาแบบมีเชิงลายเชือกทาบ ลายขูดขีด และแบบก้นกลมลายเชือกทาบ  ช่วงที่ 2 อายุราว 3000-2300 ปี พบ ภาชนะดินเผาก้นกลม และแหลมลายเชือกทาบ และเขียนสีตามรอยขูดขีด และ ช่วงที่ 3 อายุราว 2300 -1700  ปี พบ ภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง  ชุมชนนี้สามารถทำภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ลายเขียนสี และมีความเจริญทางเทคโนโลยีโดยการรู้จักทำเครื่องมือสำริด เครื่องประดับ และเครื่องมือเหล็ก รวมทั้งมีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ทะเลเพราะพบเปลือกหอย  ซึ่งจะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านเชียงได้มีการตั้งถิ่นฐานมาหลายรุ่นด้วยกันเป็นชุมชนที่รู้จักการล่าสัตว์เพราะขุดพบโครงกระดูกสัตว์รู้จักเพิ่มสุนทรียภาพในงานปั้นด้วยลายเขียนสี และยังมีการติดต่อกับชุมชนท้องทะเลอีกด้วย

                             1.1.2.3  บ้านนาดี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี  สิ่งที่พบ คือ แหล่งโบราณคดีบ้านนาดีนี้มีอายุราว 3500-1800 ปี มาแล้ว  ชุมชนนี้สามารถทำเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดเปลือกหอย ลูกปัดดินเผา เครื่องใช้สำริด และมีความทันสมัยกว่าแหล่งโบราณที่กล่าวมาแล้วคือ มีขี้แร่เหล็ก และตะกั่ว อีกทั้งยังขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์  ซึ่งชุมชนบ้านนาดีนี้เริ่มรู้จักการนำขี้แร่เหล็ก และตะกั่วเข้ามาใช้ในชุมชนและยังขุดพบรูปสัตว์ดินเผา ตราดินเผา ซึ่งคนในชุมชนเริ่มให้ความสนใจ และมีความสัมพันธ์และเห็นคุณค่าของสัตว์มากขึ้น

                             1.1.2.4  โนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งโบราณคดีโนนเมือง มีอายุราว 2000-3000 ปี มาแล้ว  สิ่งที่ค้นพบ คือ ชุมชนนี้สามารถทำภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดง ลูกปัดดินเผา ลูกปัดแก้ว และรู้จักการทำกำไรสำริด ลูกกระพรวนสำริด เครื่องมือเหล็กรวมไปถึงด้วย ขุดค้นพบซากกระดูกสัตว์และฟันสัตว์

                                       นอกจากแหล่งโบราณคดีดังกล่าวแล้ว ยังขุดพบ เสมาหิน ที่บริเวณลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขง ซึ่งเสมาหินที่มีรูปร่างงดงามที่สุด คือ เสมาหิน อำเภอ กมลลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และนอกจากนี้ยังพบ ภาพเขียนสีที่อยู่ตามถ้ำและภูผา เช่น  อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และถ้ำผาแต้ม อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งภาพเขียนสีมีลักษณะเป็น ภาพคน ภาพมือ ภาพลายเส้น และภาพสัตว์ เป็นต้น ส่วนพิธีกรรมทางศาสนาที่พบ คือ พิธีปลงศพ คนอีสานยุคแรกมักฝังศพในลักษณะท่างอตัว หรือฝังเหยียดขามัดแขนขาให้ชัดติดกัน หรือฝังแบบนอนหงาย และมักนำภาชนะดินเผาและเครื่องสำริดฝังตามไปด้วย (สุจิตร วงเทศ,  2543)

                                      แหล่งโบราณคดีที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเปรียบเหมือนกุญแจที่ไขให้ทราบถึงความเป็นมาของอีสานยุคก่อนประวัติศาสตร์ว่า บรรพบุรุษของเรามีการดำรงชีวิตอย่างไร และมีภูมิปัญญาชาญฉลาดเพียงไร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ต่อผู้ที่ได้พบเห็นแหล่งโบราณคดีเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

                   1.1.3    ด้านประวัติศาสตร์

                             สุจิตต์  วงศ์เทศ,  2543 ได้กล่าวว่า ดินแดนอีสานเป็นดินแดนที่เก่าแก่มีอายุราว 200 ล้านปีมาแล้ว จากการขุดพบหลักฐานในภาคอีสานหลายแห่งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านั้น มีอายุเริ่มตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนมาถึงยุคของ ไทย-ลาว  ซึ่งศาสตราจารย์ธวัช  ปุณโณทก (2537) ได้แบ่งยุคสมัยเหล่านี้ออกเป็น 4 ช่วงได้แก่

                              1.1.3.1  สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 ชุมชน คือ 1) ชุมชนโบราณนี้จะอยู่ในแอ่งสกลนคร หรือวัฒนธรรมบ้านเชียงได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสกลนคร ขุดพบชมชนโบราณนี้จำนวน 83 แห่ง มีลักษณะเป็นเนินดินอาศัยรวมกับบริเวณฝังศพ มีคูน้ำล้อมรอบ และมีคันดิน  2) ชุมชนโบราณในแอ่งโคราช ได้ขุดพบชุมชนโบราณอยู่ตาม ลำน้ำมูล และลำน้ำชี ได้แก่ จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ซึ่งมีจำนวน 70 แห่ง โดยมีคูน้ำล้อมรอบ เป็นต้น

                              1.1.3.2  สมัยพุทธศตวรรษที่ 12-16 ยุคร่วมสมัยทวารวดี ซึ่งในยุคนี้จะเป็นยุคที่พุทธศาสนาได้เข้ามาแล้ว ซึ่งปรากฏใบเสมาหินเช่นที่พบในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และวัดกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งในศิลาจารึกที่พบนี้เป็นตัวอักษรปัลลวะ จารึกด้วยภาษาสันสกฤตและมีเรื่องราวที่ได้กล่าวถึงพุทธศาสนาอีกด้วย

                             1.1.3.3  สมัยพุทธศตวรรษที่ 16-18 (ยุคอิทธิพลขอมสมัยพระนคร) ซึ่งในสมัยนี้ได้พบรูปแบบอักษรขอมในอีสาน ได้แก่ เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา พ.. 1514 และศิลาจารึก ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง2 จังหวัดบุรีรัมย์ พ..1532  ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้รูปแบบอักษรจากอักษรปัลลวะได้ค่อยจางเลือนลงทำให้ อักษรขอมโบราณหรืออักษรขอมสมัยพระนครเข้ามาแทนที่มากขึ้น

                             1.1.3.4  สมัยวัฒนธรรมไทย-ลาว (พุทธศตวรรษที่ 21) ได้พบจารึกของพระเจ้า ชัยวรมันที่ 7  (..1724-1762) ซึ่งเป็นจารึกหลักสุดท้าย พบที่ จังหวัดนครราชสีมา (จารึกพิมาย) จังหวัดบุรีรัมย์ (จารึกด่านประจำ) จังหวัดสุรินทร์ (จารึกตาเมียนโตจ)  ฯลฯ หลังจากสิ้นอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลงแล้ว ก็ไม่พบศิลาจารึกอีกเลย รวมถึงสถาปัตยกรรมแบบขอมด้วย ต่อมาอีก 200-300 ปี ได้พบจารึกในภาคอีสาน และลุ่มน้ำโขง ซึ่งจารึกด้วยอักษรไทยน้อย พบในจากรึกวัดแดนเมือง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย พ.. 2073 นับตั้งแต่นั้นมาวัฒนธรรมไทยลาวก็ได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมขอมจนถึงปัจจุบัน (ธวัช  ปุณโณทก,  2537)

                             หากมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะพบว่า กว่าจะมาถึงสมัยของวัฒนธรรมไทยลาว ก็ยังเคยมีดินแดนที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด เช่น อาณาจักขอมพระนครมาก่อน ซึ่งในปัจจุบันได้ทิ้งหลักฐานไว้มากมาย เช่น ปราสาทหิน อโรคยาศาลา เป็นต้น แต่ถ้าหากหันมาทางกลุ่มวัฒนธรรม ก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกันอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งผู้วิจัยขอนำเสนอประวัติศาสตร์อีสานตามที่สรุปใจความสำคัญได้ว่า  ในสมัยก่อนอีสานยังเป็นของประเทศลาว ต่อมาลาวได้เกิดความขัดแย้งกัน จึงได้แยกออกเป็น 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทร์ และอาณาจักรจำปาศักดิ์ จนกระทั่งเมื่อปี พ..2322 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทหารเอกคู่พระทัยของพระเจ้าตากสินของไทย ได้ยกทัพไปตีเมืองลาวทั้งหมด  3 อาณาจักร จนลาวได้ตกเป็นเมืองขึ้นของไทย เมื่อปี พ.. 2436  ต่อมา ฝรั่งเศส ได้ล่า อานานิคม และได้ครอบครองดินแดนของลาวในที่สุด ส่วนอีสานฝรั่งเศสไม่ได้ตามมายึดเอา เพราะได้ทำสัญญากับอังกฤษเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว (ประมวล  พิมพ์เสน,  2554) จึงทำให้อีสานไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเหมือนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  และต่อมาอีสานก็ได้ปรับการปกครองให้เหมือนกับส่วนกลางทุกอย่าง จึงทำให้อีสานได้ใช้อักษรไทยตั้งแต่นั้นมา

                             จากข้อมูลประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ทราบว่าอีสานเคยมีดินแดนกว้างใหญ่เพราะขณะนั้นยังมีเมืองลาวด้วย จากจำนวนประชากรและพื้นที่ภาคอีสานไม่เหมือนกับภาคอื่น คือ มีภูเขาเป็นจำนวนมาก และดินไม่อุ้มน้ำจึงทำให้แห้งแล้ง ดังนั้นจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคเป็นอย่างมาก

1.1.4    ด้านเศรษฐกิจ

                             ชุมชนหมู่บ้านอีสานส่วนใหญ่ อยู่กันอย่างพอเพียง มีการผลิตของใช้เพื่อใช้ในครอบครัว เช่น การทอผ้า จักรสาน หรือแม้แต่การทำนาก็ทำเพื่อเก็บไว้กินได้ 1 ปี ถึง 2 ปี ซึ่งศาสตราจารย์สุวิทย์ ธีรศาสศวัต  (2557) ได้เขียนตำราเรื่องประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488 และในเนื้อหาได้เขียนเรื่องเศรษฐกิจอีสานก่อนและหลังมีทางรถไฟ ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่สำคัญในด้านเศรษฐกิจของอีสานในอดีต ผู้วิจัยจึงขอสรุปเนื้อหาพอสังเขป ดังนี้

                    1.1.4.1  เศรษฐกิจอีสานก่อนมีทางรถไฟ (ก่อน พ.2443)

                             การผลิตสินค้าในอีสานนั้นมีเป้าหมาย คือ ผลิตเพื่อใช้เองในครัวเรือนหากเหลือจากใช้ในครัวเรือนแล้ว จึงนำไปแลกเปลี่ยนหรือขาย อาชีพหลักของคนอีสานคือการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน แต่ก็ยังมีปัญหาในด้านของดินที่มีคุณภาพต่ำ คือ ดินสีแดงปนทรายละเอียดแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการเพาะปลูกพืชของคนอีสานแต่อย่างใด การเลี้ยงสัตว์ของชาวชนบทอีสานส่วนใหญ่เลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือน เช่น เป็ด ไก่ แต่ถ้าหากเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น ควาย ช้าง ม้า ก็จะเลี้ยงไว้ใช้งาน เช่น ควายเลี้ยงไว้ไถนา และลากเกวียน เป็นต้น นอกจากการบริโภคสัตว์แล้วชาวบ้านยังอาศัยธรรมชาติ เพื่อหาอาหารด้วยเช่น ผักที่เกิดอยู่ตามป่า ตามหนองน้ำ เช่น ผักหวาน ผักติ้ว หน่อไม้ เป็นต้น ในด้านของเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่จะเป็นผ้าฝ้าย และผ้าไหม แต่ด้วยระยะเวลาและขั้นตอนการผลิตระหว่างฝ้ายกับไหม ชาวบ้านส่วนใหญ่มักนิยมทอผ้าฝ้ายเพราะมีขึ้นตอนไม่มากระยะเวลาการผลิตสั้น และต้นทุนต่ำส่วนไหมนั้น  เมื่อผลิตเสร็จแล้วจะมีราคาค่อนข้างสูงชาวบ้านจึงเก็บไว้เพื่อขาย ส่วนงานหัตถกรรมที่ทำกันทุกครัวเรือน คือ ทอเสื่อ จักสานกะบุง ตระกล้า กระด้ง เป็นต้น ส่วนใหญ่อีสานค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนก็เพื่อนำเงินมาบวชลูกชาย และเสียภาษีให้กับรัฐบาล คนละ 4 บาทต่อปี

                                       จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจอีสานก่อนมีทางรถไฟนี้ เป้าหมายการผลิตต่าง ๆ มักใช้กันภายในครอบครัวและแลกเปลี่ยนในส่วนที่ตนเองไม่มีและสินค้าที่พอจะมีการซื้อขายแต่ไม่มาก คือ ยาสูบ และผ้าไหม แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับการผลิตที่มากในแต่ละครัวเรือน

                              1.1.4.2  เศรษฐกิจอีสานหลังมีทางรถไฟ (พ ศ 2443-2488)

                                       จากที่กล่าวมาแล้วเศรษฐกิจอีสานก่อนมีทางรถไฟนั้น จะเห็นได้ว่าชาวอีสานมีพลังในการผลิตอยู่ทุกครัวเรือน แต่ก็ไม่เน้นจำหน่ายเพราะส่วนใหญ่ทุกครัวเรือนมีความสามารถและผลิตสินค้ากันเองอยู่แล้ว หากจำเป็นต้องขายก็จะนำไปขายต่างหมู่บ้าน หรือต่างจังหวัด ซึ่งการเดินทางต้องใช้เวลาหลายวัน คือ ต้องอาศัยการเดินหรือขี่เกวียน บางครั้งหากเดินทางด้วยเรือ ก็จำเป็นต้องจำกัดเรื่องปริมาณน้ำเพราะในแม่น้ำมีหินมากหากเวลาน้ำลดอาจทำให้เรือชนหินเสียหาย ด้วยปัจจัยอันแสนลำบากเหล่านี้จึงทำให้การค้าขายสินค้าของคนอีสานไม่ค่อยนิยมมากนัก แต่เมื่อรถไฟในภาคอีสานเปิดให้บริการโดยเริ่มที่อีสานใต้ คือ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2443 และมาเปิดบริการที่อีสานกลาง อีสานเหนือ จังหวัดสุดท้ายคือ หนองคาย วันที่ 23  กันยายน 2499 ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน จะเห็นได้จากสินค้าที่บรรทุกโดยรถไฟสายนครราชสีมา พ.. 2448 เช่น หมู 52,664 ตัน ข้าวเปลือก 12,675 ตัน เป็นต้น และสินค้าออกของมณฑลอุบลราชธานี (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขุนขันธ์ และจังหวัดสุรินทร์)..2462 และ 2467 เช่น พ.. 2462 ไม้ต่าง ๆ ได้ 60,240 หาบ ราคา 996,580 บาท เส้นไหม 1,447 หาบมูลค่า 557,634 บาท และใน พ.. 2467 ควาย (ตัว) 9,840 หาบ 345,600 บาท  เป็นต้น รวมมูลค่าสินค้าของมณฑลอุบลราชธานี ใน  พ..2467 มีปริมาณ 523,2217 หาบ มูลค่า 1,286,0180 เพิ่มขึ้นจากปี พ..2562 มูลค่า 449,755

                                       จากความสะดวกในการขนส่งสินค้าดังกล่าวนี้ จึงมีผลต่อพื้นที่การปลูกข้าวและผลผลิตข้าวในภาคอีสานของ พ.. 2462-2473 เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น เมื่อ พ.. 2462 มณฑลนครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และอุดร มีพื้นที่เพาะปลูก 3,978,835 ไร่ และได้ผลิต 7,157,680 หาบ (429,460 ตัน) และปี พ..2473 พื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,902,670 ไร่ และได้ผลิต 18,201,120 หาบ (662,606ตัน) ปริมาณการเพราะปลูกข้าวและผลผลิตภายในเวลา 12 ปี ทำให้ทราบถึงความต้องการบริโภคข้าวอย่างมาก แต่มิใช่คนอีสานอย่างเดียว แต่เป็นการจำหน่ายให้ภาคอื่น ๆ บริโภคด้วย ตั้งแต่มีทางรถไฟในภาคอีสานนอกจากจะมีสินค้าทางการเกษตรแล้ว ก็ยังมีบริการด้านอื่น ๆ หนาแน่นตามไปด้วย เช่น มีร้านค้าเกิดขึ้นมากมายบริเวณสถานีรถไฟ เกิดการบริการที่พัก ให้เช่าเกวียน อาชีพโสเภณี โรงงานยาฝิ่นฯลฯ

                                       นับได้ว่าเศรษฐกิจของอีสานในปี พ..2443-2488 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วทำให้อีสานมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้สังคมอีสานมีการขายตัวอย่างรวดเร็วตามไปด้วยเช่นกัน

                   1.1.5    สภาวะทางสังคม

                             ชาวอีสานส่วนใหญ่ในอดีตอาศัยโชคชะตาและอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต และเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นกับพวกเขา เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ฝนแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น ทางออกที่มีคือ การอ้อนวอนขอความเมตตา ด้วยการบวงสรวง เซ่นสังเวยต่อผีเทวดา ให้ช่วยรักษาอาการป่วยไข้ และทำให้พืชผลทางการเกษตรได้ผลดี จึงเกิดประเพณีและพิธีกรรมเลี้ยงผีและเทวดาเป็นประจำทุกเดือน (บุญยงค์  เกศเทศ,  2551) หรือที่เรียกว่า  ฮีตสิบสอง โดยเป็นประเพณีของคนอีสานที่ได้ปฏิบัติกันมายาวนาน ซึ่งประเพณีที่เห็นได้ชัดในการเลี้ยงผี คือ ฮีตที่ 9 บุญข้าวประดับดิน และฮีตที่ 10 บุญข้าวสาก ซึ่ง 2 บุญนี้จะเป็นการเลี้ยงผีที่เป็นผู้ปกปักรักษาผืนไร่ผืนนา และผีบรรพบุรุษให้คอยปกป้องคุ้มภัยให้แก่ลูกหลานได้แคล้วคลาดจากภัยพาล บางฮีตก็ได้นำไปจัดเป็นประเพณี เช่นบุญบั้งไฟ อยู่ในฮีตที่ 6 เป็นประเพณีประจำปีของจังหวัด ยโสธร การจุดบั้งไฟนี้เป็นการบอกกล่าวให้พยาแถนทราบว่าถึงเดือนหก ฤดูทำนาแล้วให้แถนสั่งนาคให้ปล่อยฝนมายังโลกมนุษย์ ซึ่งตรงกับนิทานเรื่อง พญาคันคากในวรรณกรรมของอีสานอีกด้วย (สำลี รักสุทธี,  2553)

                             เมื่อถึงฤดูทำนาส่วนใหญ่ชาวอีสานไม่นิยมจ้างคนภายนอกครอบครัวมาช่วยทำนา แต่จะเป็นการช่วยเหลือกันด้วยจิตรอาสาเรียกว่า ลงแขก คือ หากครอบครัวใดจะทำนาคนในหมู่บ้านที่สนิทคุ้นเคยกันก็จะมาช่วยทำ หากครอบครัวที่เพื่อนบ้านช่วยทำเรียบร้อยแล้ว ตนเองก็จะไปช่วยเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำเช่นนี้เป็นประจำทุกปี (ปรีชา พิณทอง, 2551) หลังจากฤดูทำนาสิ้นสุดลงก็ถึงเวลา นัทนาการ ซึ่งหมายถึง การสังสรรค์กันในชุมชนเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยอาจมีการจ้างหมอลำมาทำการแสดงและร่วมฟ้อนกันอย่างสนุกสนาน ความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมของอีสานที่พึ่งพาอาศัยกันนี้ อาจเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาจาก ประเพณี ที่เรียกว่า ผูกเสี่ยว ซึ่งเสี่ยว คือ เพื่อสนิทหรือมิตรแท้ โดยมีการผูกแขนทั้งสองคน ที่จะเป็นเสี่ยวกันและหากเสร็จพิธีผูกแขนแล้วทั้งสองคนก็จะเป็นเพื่อนกันจนวันตาย  (บุญเกิด  พิมพ์วรเมธากุล, 2544)  ซึ่งประเพณีเช่นนี้ก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นได้ตามชนบท และบางแห่งก็เป็นประเพณีประดิษฐ์สร้างเพื่อสืบสานต่อเพื่อไม่ให้สูญหายไปจากอีสานก็มี เช่น ประเพณีผูกเสี่ยว จังหวัดขอนแก่น

                             จากสภาพทางสังคมของอีสานดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นภูมิหลังของสังคมอีสานในระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคบ้านเชียง มีอายุประมาณ 4,000-5000 ปี  (สุวิทย์  ธีรศาสวัต,  2557) ล่วงเลยมาแล้ว ถือว่าระบบด้านประเพณีมีการควบคุมสังคมให้อีสานสงบสุขมาอย่างยาวนานอยู่ไม่น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

ข่าวเรียกบรรจุครูทั่วไทย อ่านต่อได้ที่: http://www.kruwandee.com/widget.html

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน