17 มิถุนายน 2564

หมอลำอีสาน

 หมอลำอีสาน

ภาคอีสานมีศิลปะการแสดงที่เรียกว่า หมอลำ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษอีสานที่ได้สร้างสรรค์ไว้ จนถึงลูกหลาน หมอลำ เป็นทั้งผู้ให้ความบันเทิง และเป็นทั้งครุโดยใช้กลอนลำเป็นสื่อในการให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านการเมือง ด้านสาธารณสุข ฯลฯ และคนดูสามารถเลือกที่จะดูหมอลำได้หลายประเภทอีกด้วย เช่น กลุ่มวัยรุ่นชอบดูหมอลำซิ่ง กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่  40-80  ปี ชอบดูหมอลำกลอน กลุ่มบุคคลทั่วไปชอบดูลำเรื่องต่อกลอน เป็นต้น ซึ่งหมอลำได้เอื้อความบันเทิงให้กับคนดูได้หลายรูปแบบ จึงทำให้หมอลำยั่งยืนสืบต่อมาจนถึงวันนี้ได้ นอกจากการแสดงเพื่อให้ความบันเทิงแล้วในด้านความเจ็บป่วย หมอลำก็มีบทบาทไปช่วยบำบัดรักษาอีกด้วย เช่น หมอลำผีฟ้า เป็นต้น

ด้วยเหตุผลมาข้างต้นทำให้ผู้วิจัยได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะการแสดงของภาคอีสาน หมอลำ จึงทำให้ผู้วิจัยได้ศึกษาหาข้อมูลเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหมอลำและกลอน ซึ่งก่อนอื่นผู้วิจัยของกล่าวถึง เพลงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นรากฐานของเพลงในระดับสากลให้เข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนจึงจะกล่าวถึง หมอลำในหัวข้อต่อไป

2.1      ความรู้เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน

          เสาวลักษณ์ อนันตศานต์  (2543  อ้างจาก  เอ เอช แครปป์)  ได้อธิบายเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านในแง่ของคติชนวิทยาไว้ในหนังสือ The Science of Folklore ว่า  เพลงพื้นบ้าน คือ บทเพลงที่ชาวบ้านสามัญชนทั่วไปคิดและประพันธ์ขึ้นมาเพื่อสร้างสรรค์ไว้ในอดีต จนตกทอดมาจนถึงปัจจุบันเพลงพื้นบ้านจะประกอบด้วย บทประพันธ์และดนตรี และถ่ายทอดตามประเพณีมุขปาฐะ ไม่ได้มีการบันทึกใส่กระดาษเหมือนกลุ่มที่อยู่เมือง จึงทำให้ยากต่อการค้นหาต้นต่อผู้สร้างเพลงเหล่านี้เป็นอันมาก เพลงพื้นบ้านจะมีลักษณะแตกต่างจากเพลงประเภทอื่น ๆ เพราะเพลงพื้นบ้านไม่มีรูปแบบการประพันธ์ตายตัว ส่วนเพลงในกลุ่มคนเมือง ก็จะมีการกำหนด จำนวนคำ วรรคตอน สัมผัส และทำนอง ไว้เป็นมาตรฐาน แต่เพลงพื้นบ้านขึ้นอยู่กับประเพณีปรัมปรามุขปาฐะ             ที่แวดล้อมอยู่รอบตัวของพวกเขา ซึ่งอาศัยธรรมชาติเป็นแหล่งผลิตบทเพลงส่งผ่านความเชื่อที่พวกเขามี

          ดังนั้น  จึงทำให้นักคติชนวิทยาได้หาแนวทางในการศึกษาเพลงชาวบ้านที่มีความหลากหลายจนไม่รู้เลยว่าจะเริ่มศึกษาส่วนใดก่อนถึงจะดีที่สุด จึงได้มีการจัดจำแนกเพลงพื้นบ้านออกดังนี้

          1) เพลงบรรเลง เป็นเพลงที่มีแต่เสียงดนตรีเพียงอย่างเดียว

          2) ลำนำ เป็นเพลงที่มีถ้อยคำมากว่าทำนอง

          3) เพลงที่ใช้ปฏิบัติ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงทำงาน เป็นต้น

          4) เพลงพื้นบ้านที่เป็นบทร้อยกรองรำพันความในใจ เช่น เพลงที่ใช้ในพิธีการ เพลงเกี้ยวพาราสี เพลงธรรมเทศนา เพลงภาษาถิ่น เป็นต้น

          5) เพลงพื้นบ้านสำหรับเล่าเรื่อง

บุปผา บุญทิพย์ (2543) ได้อธิบายถึงประโยชน์และคุณค่าของเพลงพื้นบ้านไว้ว่า

1) เพลงเป็นเครื่องให้ความบันเทิง

2) เพลงสะท้อนความเป็นอยู่ของสังคมสมัยนั้น

3) เพลงชาวบ้านเป็นเพลงที่ช่วยผ่อนคลายความตรึงเครียดให้ชาวบ้าน

                   4) เพลงชาวบ้านส่วนใหญ่มักมีเนื้อหาแบบหยาบโลน เล่นคำ และมักมีการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นความจริงที่ชาวบ้านถ่ายทอด

          5) เพลงชาวบ้านสะท้อนค่านิยมและประเพณีต่าง ๆ

             จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เพลงพื้นบ้าน เป็นเพลงที่เกิดจากชาวบ้านสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิง เพื่อประเพณี พิธีกรรมในหมู่บ้านของเขา นอกจากนี้เพลงพื้นบ้านยังสามารถบันทึกพฤติกรรมที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในสังคม (ชัยชนะ พิมพ์ศิริ,  2548) ที่ได้สะท้อนในแงมุมต่างๆ ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ของคนในสังคมนั้น ๆ (วิภา ปานประชา,  2549) ซึ่งสอดคล้องกับ รำเพย ไชยสินธุ์ (2553) ที่กล่าวว่า วรรณกรรมร้อยกรองพื้นบ้านที่ประพันธ์ขึ้นต้องมีลักษณะเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิถีชุมชนเหล่านั้นจึงจะได้รับความนิยมจากผู้ฟัง ซึ่งเนื้อหาและรูปแบบของการประพันธ์ไม่ตายตัว และเพลงพื้นบ้านของไทยก็มีอยู่หลากหลายมิใช่น้อย ยกตัวอย่างเช่น เพลงพื้นบ้านที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันในภาคอีสาน คือ เพลงหมอลำ  ศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก (2537) ได้กล่าวว่า เพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาว มีอยู่ 2 ชนิดคือ เซิ้ง กับ หมอลำ ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งจากเนื้อหาสาระของชาวบ้านแต่ผู้แต่งอาจจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าหากเป็นการประพันธ์ในสมัยก่อนก็มักจะกำหนดรูปแบบคำประพันธ์จากชาวบ้านเอง บางกลอนที่ประพันธ์ขึ้นมาก็อาจจะไม่ทราบชื่อของผู้แต่งก็มี แต่ในปัจจุบันนี้หมอลำได้มีการบันทึกในรูปแบบของการเขียน และพิมพ์เรียบร้อยแล้ว

2.2     ความรู้เกี่ยวกับหมอลำ

          หมอลำ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคอีสานที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจนถึงลูกหลาน จนกระทั่งเมื่อปี พ.. 2552 หมอลำได้ถูกประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำเรื่องของหมอลำมาจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อโครงการ มหกรรมสืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา ที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2554  ในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้กล่าวถึงภูมิปัญญาดั่งเดิมของไทยที่กำลังทยอยเลือนลางไปอย่างช้าๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ปฏิบัติและสืบทอดภูมิปัญญาเป็นอย่างมาก ดังนั้น หน่วยงานของรัฐ จึงเร่งส่งเสริมและผลักดันให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของผลงานที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์เอาไว้อย่างจริงจัง จนกระทั่งในปี พ.. 2552 ศิลปะการแสดงสาขาเพลงพื้นบ้านของอีสาน ได้ประกาศขึ้นทะเบียนด้วยกัน 3  ประเภท คือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน และผญา  ซึ่งหมอลำทั้ง 3 ประเภทนี้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของลูกหลานคนอีสาน ฉะนั้นหมอลำจึงควรค่าแก่การหวงแหน เพราะเป็นสมบัติของบรรพบุรุษที่สร้างไว้ให้กับพวกเขา (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2554)

2.2.1    ความหมายของหมอลำ

                   คำว่า ลำ ตาม พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542) ให้ความหมายว่า ลำ หมายถึง เพลง บทกลอน เช่น ร้องส่งลำ ร้องแก้ลำ เป็นต้น ซึ่งประมวล พิมพ์เสน (2543)  ได้กล่าวว่า ลำ หมายถึง การเอากลอนมาขับร้องให้เป็นทำนอง โดยอาจมีหลายรูปแบบ และหลายสำเนียง

                   ส่วนคำว่า หมอ ตามพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542) ให้ความหายของคำว่า หมอ คือ ผู้รู้ ผู้ชำนาญ เช่น หมอนวด หมองู เป็นต้น

                   เมื่อประสมคำว่า ลำ กับ หมอ เข้าด้วยกันจะได้คำว่า หมอลำ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการขับร้องบทเพลงหรือบทกลอน  ซึ่งได้มีนักวิชาการและนักวิจัยหลายท่านที่ได้ให้ความหมายของหมอลำโดยจำแนกได้ดังนี้

                   กลุ่มที่ 1  ได้แก่ พร ยงดี (2555), วุฒินันท์ สุพร (2556),  พรชัย เขียวสาคู (2555),       ณัฐพงษ์  ภารประดับ (2556),  บุษบา คนยงค์ (2556),  ราชบัณฑิตยสถาน (2542) ได้สรุปความหมายของหมอลำ ไว้ว่า หมอลำ หมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในการลำ ด้วยการท่องจำกลอนลำจากเนื้อหาวรรณกรรมอีสาน ได้แก่ ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ จำปาสี่ต้น สังข์สินไซ เป็นต้น และถ่ายทอดให้ชาวบ้านฟังอย่างเข้าใจ

                   กลุ่มที่ 2  ได้แก่ ราเชษฐ์ ไตรยสุทธิ์ (2555) , บัณฑิวงศ์ ทองกลม (2539)  ได้สรุปความหมายของหมอลำไว้ว่า หมอลำคือ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการขับลำนำ จากบทกลอนที่ประพันธ์ด้วยสำนวนภาษาถิ่นอีสาน

                   กลุ่มที่ 3 ได้แก่  สุนทร ทองเปาว์ (2537),  พรสวรรค์ พรดอนก่อ(2551), คงฤทธิ์  แข็งแรง (2537),  เอื้อมเดือน ถิ่นปัญจา (2548),  ธีระพงษ์  โสดาศรี (2537),  กฤษฎา  ศรีธรรมา (2534), เยาวภา ดำเนตร (2536),  สุวิทย์ รัตนปัญญา (2553) ได้สรุป ความหมายของหมอลำไว้ว่า หมอลำ คือ ผู้ที่มีความสามารถในการขับลำ โดยมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบเป่าคลอขณะลำ  

                   กลุ่มที่ 4 ได้แก่ พัลลภ  เพียรชนะ (2554),   ธวัช ปุณโณทก (2537) ได้สรุป ความหมายของหมอลำไว้ว่า หมอลำ เป็นเพลงพื้นบ้านและเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคอีสาน มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นในการแสดงอยู่ตลอดเวลา

                   จากความหมายของหมอลำดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า หมอลำหมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคอีสานที่ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญในการท่องจำบทกลอนลำจากวรรณกรรมพื้นบ้านที่ประพันธ์ขึ้นด้วยสำนวนภาษาอีสานโดยมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ และสามารถถ่ายทอดให้ชาวบ้านฟังอย่างเข้าใจ

          2.2.2   พัฒนาการเกิดหมอลำ

                   หมอลำเป็นศิลปะการแสดงของภาคอีสาน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษซึ่งเกิดจากการเล่าสืบทอดต่อกันมาจากปากต่อปาก หรือแบบมุกขะปาฐะ จนกระทั้งได้บันทึกเป็นแบบลายลักษณ์อักษรในปัจจุบัน  ซึ่งจากการสันนิฐานการเกิดหมอลำจากนักวิจัยหลายท่านได้แก่ พร ยงดี (2555), สุนทร  ทองเปาว์  (2537 อ้างจาก อุดม บัวศรี,  2528: 88-89) คงฤทธิ์  แข็งแรง (2537) ได้ให้ข้องสันนิฐานการเกิดหมอลำไว้ดังนี้

                   1) หมอลำเกิดจากการบูชาแถนหรือผีฟ้า เช่น การลำผีฟ้า รักษาคนป่วย

2) หมอลำเกิดจากการเทศน์ของพระสงฆ์ เช่น เทศน์แหล่เกี่ยวกับชาดก

3) หมอลำเกิดจากประเพณีการอ่านหนังสือผูก เช่น การอ่านในงานมงคล และอวมงคล

                   4) หมอลำเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว เช่น ผญาเกี้ยว ในประเพณีลงข่วง

                   ดังนั้น การเกิดหมอลำมีเหตุมาจาก การบูชาแถน การเทศน์ของพระสงฆ์ การอ่านหนังสือผูก และการเกี้ยวพาราสี

                   จากการที่ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารงานวิจัยเรื่อง การเกิดหมอลำพบว่า ผลสรุปของเรื่องนี้มีความใกล้เคียงกันมากแต่ยังไม่มีการเรียลำดับเหตุการณ์พัฒนาการของหมอลำอย่างชัดเจน แต่มีผลงานวิจัยของ สนอง คลังพระศรี  (2541) เรื่อง หมอลำซึ่ง : กระบวนการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรีของหมอลำในภาคอีสาน ได้ศึกษาพัฒนาการของหมอลำไว้ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 1  ว่า เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของหมอลำในภาคอีสาน ซึ่งได้เรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ของหมอลำ ด้วยกันไว้ 7 ยุค ผู้วิจัยจึงขอสรุปพัฒนาการของหมอลำที่ สนอง คลังพระศรี  (2541) ได้ศึกษาไว้ดังนี้

                             2.2.2.1 ก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 (ก่อน พ.ศ. 1900) : หมอลำผีฟ้า และผญาเกี้ยว

                              ในช่วงนี้มีการสันนิฐานว่าหมอลำมีอยู่ 2 ประเภท คือ เกิดจากหมอลำผีฟ้า และเกิดจากผญาเกี้ยว ดังนี้

                             1)  หมอลำผีฟ้า:  ลัทธิบูชาแถน

                             จากยกตัวอย่างข้อความในหนังสือประชมพงศาวดารของไทย ภาคที่ 1  เรื่องพงศาวดารล้านช้าง โดยได้กล่าวถึงตอนที่พยาแถนหลวงได้สั่งชาวแถนลงมาสอนเล่นเครื่องดนตรี แก่มนุษย์ซึ่งมีความว่า (โบราณคดี สโมสร, 2457)

                                “…เมื่อนั้นพระยาแถนเล่าถามว่าเครื่องอันจักเล่นจักหัว แลเสพรำคำขับทั้งมวญนั้นยังได้แต่งแปงให้แก่เขาไป ยามนั้นแถนแพนจึงว่าเครื่องฝูงนั้นข้อยไป่ได้แต่งแปงกาย เมื่อนั้นพระยาแถนหลวงจึงให้ศรีคันธพะเทวดา ลาลงมาบอกสอนคนทั้งหลายให้เฮ็ดฆ้องกลองกรับ เจแวงปีพาทยพิณเพี้ยะเพลงกลอนได้สอนให้ดนตรีทั้งมวญ แลเล่าบอกส่วนครูอันขับฟ้อนฮ่อนนะสิ่งสว่าง ระเมงละมางทั้งมวญถ้วนแล้ว…”

                                หลังจากชาวแถนได้ลงมาสอนให้มนุษย์สร้างเครื่องดนตรี พร้อมทั้งสอนการเล่นและการฟ้อนให้แก่มนุษย์แล้ว เวลาก็ได้ล่วงเลยไปนานพอควรมวลมนุษย์ก็เริ่มชำนาญให้การเล่นดนตรีด้วยตนเองแล้ว แถนหลวงจึงได้กล่าวว่า

                                 แต่นี้เมือน่า อย่าให้เขาขึ้นมาหาเฮาซ้ำสองทีทอญ แม้นเราก็อย่าลงไปหาเขาซ้ำสองทีทอญ แถนหลวงจึ่งให้ตัดข้อหลวงอันแรงกายหลายหลวงอันแรงเรียวนั้นเสีย แต่นั้น ผีแลคนลวดบ่เทียวไปมาหากันได้หั้นแล

                                 จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้นจึงทำให้โลกมนุษย์และโลกของแถนได้ตัดขาดออกจากกันตั้งแต่นั้นมาอย่างถาวร ทำให้แถนและมนุษย์ไม่สามารถติดต่อกันได้โดยตรง แต่เมื่อมนุษย์อยากติดต่อกับแถน ก็จะมีตัวประสานงาน คือ ล่าม ในการติดต่อ ล่ามในที่นี้เปรียบคือ ร่างทรง ผีฟ้า นางเทียม ฯลฯ ซึ่งในสมัยโบราณมนุษย์ยุคก่อนเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แห้งแล้ง และน้ำท่วม เป็นฝีมือของผีหรือการกระทำของแถน ซึ่งที่จริงแล้ว แถน คือผู้สร้างโลก ในนิยายเรื่องน้ำเต้าปุง แต่ต่อมาแถนในความคิดจากนิทานได้เปลี่ยนไปเป็นตัวร้ายทำให้ฝนไม่ตกบ้าง น้ำท่วมบ้าง จนเกิดเดือดร้อน เช่นในนิทานเรื่อง พญาคันคาก            (จารุวรรณ ธรรมวัตร,  2552)

                             ดังนั้น เมื่อแถนไม่พึงพอใจในการกระทำของมนุษย์ก็อาจเกิดความเดือดร้อนขึ้นในภายภาคหน้า มนุษย์จึงต้องบวงสรวง เซ่นไหว้ และเคารพต่ออำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านี้ จึงกลายเป็นประเพณีฮีตคองขึ้น เช่น ฮีตที่ 6 บุญบั้งไฟ หรือที่เกิดจารีตประเพณีพิธีกรรม ที่ มาริโกะ กาโต๊ะ (2538) เรียกว่า บูชาผีขึ้น ในอดีต

                             ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาประกอบกับในอดีตความเจริญยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้านที่ห่างไกลเมืองหากเวลาผู้คนเจ็บไข้ได้ป่ายก็ไม่มีแม้แต่โรงพยาบาลที่จะเข้ารักษาเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านได้แต่อาศัยการรักษาด้วยสมุนไพรและหากไม่หายก็ต้องอาศัยการสวดอ้อนวอนเทพเจ้าให้ช่วยเหลือ เยียวยาอาการป่วยไข้ด้วยวิธีการที่เรียกว่า ลำผีฟ้า ซึ่งมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบลำเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างกลอน เช่น

                             กลอนวอนขอ

เว้าต่อเอื้อย มันบ่เป่าเสียสีเด้หล่า         เว้าต่อเอื้อย กะบ่เป่าเสียลาย เด้นาง

กายบ่สูญเสียเสี่ยง ผิวงามงามยังคือเก่าเด้หลา  คั้นว่าเนื้ออ่อนอ้อน  ผะอวนน้องกะดั่งหลัง

คั้นทั้งหลาย เพิ่นนี้บ่มกล้วยบ่บ่มอ้อย     เจ้าอย่าบ่มหัวใจเด้อนาง

ทั้งหลายเพิ่นขังปู ขังปลาในไซ             เจ้าอย่าขังความเว้า พี่เด้อ

เฮ็ดจั่งใด๋ สิได้เบาอกหล่า                   ป๋าเปิ่นเวิ่นเว้าม่วนม่วน ซั้นตั๊วะหลา

 เว้าต่อเอื้อย  นี้คือฆ้องกล่อมนอน        คือจั่งแหกับข้อง  ละซีลองเว้ากันคล่องนางเอ้ย

 ทางแหผัดมุดน้ำ ทางข้องผัดล่องนำ      กลองกับฆ้อง ให้มันล่องนำกันเด้อหล่า

 อย่าให้มีรังฆังจองหอง บ่ล่องลงนำฆ้อง  ว่าแต่มันดีใจน้อง สาวผู้ดีเอ้อยบ่ว่า หล่าเอ้ย…”

(เกรียงไกร  ผาสุตะ,  2557 อ้างจาก นางบัวไข, นางจำปา, นางสงกา)

จากสังคมยุคก่อน พ.. 1900 นี้ผู้วิจัยสันนิฐานว่า สังคมยุคนี้นอกจากจะมีการประกอบพิธีกรรมรักษาโรคด้วยผีฟ้า ซึ่งมีท่วงทำนองลำอันไพเราะและสะกดคนฟังอย่างน่าเกรงขามแล้ว ในระหว่างนี้ภายในหมู่บ้านก็อาจจะมีกิจกรรมที่ให้ความบันเทิงที่มีทั้งเสียงร้องและท่วงทำนองเกิดขึ้นด้วย จนเห็นว่าเกิดความไพเราะและแฝงไปด้วยคำกินใจและปรัชญา หรือที่เรียกว่า  ผญา จนสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันก็เป็นได้

2) ผญาเกี้ยว : หนุ่มจีบสาว

                                ในสมัยก่อนตอนกลางคืน หญิงสาวชนบทจะมาชุมนุมลงข่วงเข็ญฝ้าย คำว่า ข่วง หมายถึง ลาน หรือบริเวณที่กว้าง และจะมีหนุ่ม ๆ มานั่ง คุยสาวหรือหยอกสาวบางคนอาจเป่าแคน ดีดพิณ และคุยสาวตามคุ้มต่าง ๆหากพอใจสาวคนใดเป็นพิเศษก็จะสนทนาโต้ตอบด้วยโวหารที่ไพเราะมีความหมายอันลึกซึ้ง ซึ่งเรียกว่า จ่ายผญาเกี้ยว ต่อมามีการนำผญาเกี้ยวไปลำโต้ตอบกันจนกลายเป็นผญามาจนถึงปัจจุบัน

 (โอสถ  บุตรมารศรี.  2538 อ้างจาก บุจารุวรรณ  ธรรมวัตร.  ... :40-41)  ตัวอย่างกลอน  เช่น

กลอนผญาเกี้ยวชายหญิง

ชาย:   พี่นี้มุ่งมาดแม้ง จิตใจแสดวงมาแล้ว แสนที่แพงคำฮัก หม่อมพระนางมีฮ้าง

หวังเอาเป็นคู่สร้างบารมีเฮียงฮ่วมกันแล้ว

หญิง:  ครันแม่นจิตพี่มุ่งน้อง ขอมาดมุ่งดอมพี่เอย ย้านแต่มัวมองเมินบางหมางหนี ฮ้างนี้แล้ว

คันพี่หมายมาสร้างบารมีเฮียงฮ่วมจริงนั้น น้องจักขอมอบเมี้ยนเป็นข้าชั่วชีวังแท้เล้ว…”

ฯลฯ

(น้อย  ผิวผัน,  ม.ป.ป.)

                             2.2.2.2 พุทธศตวรรษที่ 20 (หลัง พ.. 1900): เทศน์แหล่ของพระสงฆ์

                             ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาผู้ที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ตัวอักษรที่ใช้เขียนคือ อักษรไทยน้อย และอักษรธรรม ที่เป็นวรรณกรรมอีสานที่เกิดจากความชำนาญจนกลายเป็นความเคยชินของผู้เรียนในขณะนั้น พอหลังจากที่สึกออกมาแล้วคนเหล่านี้ก็จะสามารถแต่งกลอนลำได้ จึงได้แต่งกลอนลำให้ผู้ที่มีความสามารถในการลำได้ลำ จะเห็นได้ว่ากลอนลำที่พระใช้เทศน์ลำ และกลอนอ่านหนังสือของพระที่ใช้เทศน์นั้น จะเป็นกลอนเดียวกันกับกลอนลำทางยาว ต่างกันที่การเอื้อนเสียงทำนองบางช่วงเท่านั้น แต่โครงสร้างกลอนลำแต่งแบบกลอนวิชุมาลี หรือโครงสาร ซึ่งมีลักษณะการประพันธ์เหมือนกัน จึงสันนิฐานได้ว่า หมอลำน่าจะพัฒนามาจากการเทศน์ลำ หรือเทศแหล่ของพระสงฆ์ (วรศักดิ์  วรยศ,  2554 อ้างจาก อุดม  บัวศรี 2535:75) ตัวอย่างกลอน เช่น

กลอนแหล่ สมัยเดิมอีสาน

บัดนี้อาตมาจักได้ แหล่เรื่องเค้าตั้งแต่เก่าโบราณกาล เป็นธรรมเนียมชาวอีสานผ่านมาแต่นานล้ำ มีศีลธรรมชาวบ้านคนอีสานตั้งแต่เก่าโบราณเฮาตั้งแต่กี้บ่มีเรื่องวุ่นวาย….อยู่กับแบบน้องอ้ายปกครองง่ายแบบกันเอง พวกนักเลงบ่มีหารพวกหมู่พาลบ่มีดื้อ  ถือเอาศีลธรรมเลี้ยงพลเมืองปกครองง่าย มีกฎหมายสิบสี่ข้อพอแล้วอยู่สบาย…”

ฯลฯ

(เตชวโร ภิกขุ (อินตา กวีวงศ์),  ...)

                             2.2.2.3 พุทธศตวรรษที่ 24 (หลัง พ.. 2322): หมอลำพื้น หมอลำกลอนและหมอลำโจทย์-แก้

                             ในช่วงนี้มีการสันนิฐานการเกิดหมอลำว่ามีอยู่ 3 ประเภท คือ เกิดหมอลำพื้น เกิดหมอลำกลอน และเกิดหมอลำโจทย์-แก้ ดังนี้

                                      1) หมอลำพื้น หรือ ลำเรื่อง หมายถึง เรื่องราวหรือการเล่าเรื่องราว ซึ่งในสมัยก่อนหมอลำพื้นเป็นที่นิยมของชาวบ้านมาก กลอนลำที่หมอลำนำมาลำมักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น นิทานชาดก พุทธทำนาย เป็นต้น ผู้แสดงหมอลำพื้นเป็นผู้ชาย  ชุดที่ใส่จะใส่เสื้อและกางเกงขายาวสีขาว ลำบนเวทียกพื้นเตี้ย โดยมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบขณะลำ ทำนองลำใช้ทำนองลำทางยาว แคน ลายใหญ่ และ ลำทางสั้น แคนลายน้อย แล้วแต่บทบาทในการนำเสนอเรื่องราวการแสดง (คงฤทธิ์ แข็งแรง,  2537) หมอลำพื้นมีผู้แสดงเพียงคนเดียว จึงมีหลายบทบาทในคนคนเดียวเช่น เจ้าเมือง มเหสี พระเอก นางเอก ตัวตลก คนรับใช้ เป็นต้น อุปกรณ์ในการแสดงที่สำคัญคือ ผ้าขาวม้า ซึ่งผ้าขาวม้าเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของฉากการแสดงอย่างหนึ่ง เช่น หากกล่าวถึงตัวพระผู้ลำก็จะเอาผ้าขาวม้าผูกเอว หากกล่าวถึงตัวนางผู้ลำก็จะผ้าขาวม้าห่มเฉลียง เป็นต้น (วุฒินันท์  สุพร.  2556  อ้างจาก อุดม บัวศรี. 2526)  ตัวอย่างกลอน เช่น

         

กลอนลำพื้น

บัดนี้ ฟังเบิ่งเรื่องกะตามเรื่องนิทาน ตามครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมาลำเรื่อง ฝูงคนเฒ่าอย่าเหงานอนให้เจ้าซื่น ตืนมืนตาม่องก่อง สองเบื้องอย่าท่านอน ฟังเบิ่งเรื่องกะตามเรื่องชาดก ยกมาเป็นนิทาน อ่านมาแต่ปางเค้า…”

ฯลฯ

(สนอง คลังพระศรี. 2541 อ้างจาก  ทองมาก จันทะลือ.  ... วัสดุบันทึกเสียง)  

                                      2) หมอลำกลอน  เป็นการลำสลับชายหญิง กลอนลำที่ลำขึ้นอยู่กับการนำเสนอ เช่น กลอนวิชาการ กลอนประวัติศาสตร์ กลอนธรรมชาติ และลักษณะของกลอนขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ได้แก่ กลอนเกี้ยว กลอนโจทย์แก้ กลอนเดินดง เป็นต้น ซึ่งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะลำโต้ตอบหรือบางครั้งก็อาจจะมีการประชันกลอน โดยขึ้นต้นเปิดฉากด้วยกลอนไหว้ครู ใช้ทำนองลำทางสั้น และถัดจากนั้นจะเป็นกลอนบรรยายอาจเป็นกลอนนิทาน ใช้ทำนองลำทางยาว และสุดท้ายเป็นกลอนลำเกี้ยวระหว่างหมอลำชายและหมอลำหญิง ใช้ทำนองลำเต้ยโขง พม่า และธรรมดา การแต่งกายผู้ชายนิยมแต่งกายด้วยชุดสากล เสื้อแขนยาวผูกไท้ ส่วนหมอลำหญิง จะแต่งกายที่สวยงามตามสมัยนิยมคือ สวมชุดผ้าไหม เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดง คือ แคน เป่าคลอประกอบขณะลำ หมอลำกลอนเป็นหมอลำที่ถือว่าเป็นต้นเค้าของหมอลำที่เป็นครูถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างดี เพราะเนื้อหาของกลอนลำส่วนใหญ่จะมีทั้งคดีโลก และคติธรรมที่แทรกด้วยคำสอนต่าง ๆ ของประเพณี และวัฒนธรรมในสังคมอีสานอย่างสมบูรณ์ (เอื้อมเดือน   ถิ่นปัญจา,  2548) ตัวอย่างกลอน เช่น         

 

 

ตัวอย่างกลอน ลำทางยาว กลอนลำลา

โอ่ยโอ้ยละนอเอออ่วย

ฟ้าเอยฟ้าฮ้องหล่าย ทางอุดรหนองคาย น้องได้ยินหรือบ่

ฟ้าเอ้ยนอฮ้องตึ้งพุ้นตึ้งพี้ ใจอ้ายห้วงพะนาง..เอ้ยเอยน่า

บรบวนแล้ว      ชายลำสิลาจาก

สิได้พากพี่น้อง            ลุงป้าคู่สู่คน

ลำมาโดนจนล้า                    ตาลายปากฝ่าว

ทางผ่องอิดอ่อนล้า       ขายั้งสิบ่ไหว…”

ฯลฯ

(สุนทร  แพงพุทธ,  2556)

                             3) หมอลำโจทย์-แก้  ลำโจทย์แก้พัฒนามาจากการเทศน์โจทย์ของพระสงฆ์ ซึ่งจะมีหมอลำอยู่ 2 คน โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตั้งโจทย์เป็นกลอนลำถามคู่ลำ กลอนที่ใช้ถาม เช่น กลอนประวัติศาสตร์ กลอนศาสนา กลอนภูมิศาสตร์ กลอนวรรณคดี  เป็นต้น  ฝ่ายที่ตอบจะต้องลำกลอนแก้ให้ได้ หากหมอลำที่ลำตอบคำถามฝ่ายโจทย์ไม่ได้ก็จะต้องลงจากเวทีถือว่าปฏิภาณไหวพริบของหมอลำยังไม่เพียงพอจึงทำให้หมอลำที่ตอบคำถามไม่ได้นั้น รู้สึกอับอายไปเลยก็มี และเชื่อกันว่าหมอลำโจทย์แก้นี้กำเนิดมาจากจังหวัดขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม (เยาวภา ดำเนตร,  2536) ตัวอย่างกลอน เช่น

 (กลอนโจทย์)

“… บัดนี้ถามว่าจั่งซี้ถามยอดปาระมัตถ์

ถามวิปัสสนาธรรมนั่งให้คาเดียวนี้

คำว่าวิปัสสนานั้นทำกันจั่งใดแน่

ผลประโยชน์ที่แท้ทำได้นั้นแม่นหยัง…”

ฯลฯ

(กลอนแก้)

“…มึงสิถามให้กูคาถามหยังสำนี้

กูบ่คาท่อขี้กูนี้ละเวยหำ

ปาระมัตถ์ธรรมคือธรรมปาระมัตถ์

มีปัญญาแจ้งชัดรู้ยิ่งเห็นจริง

ฮู้โดยบ่แอบอิงรู้ผลรู้เหตุ

รู้จักสมุทเฉทริยะสัจจัง…”

ฯลฯ

(อุดม บัวศรี.  2546,  อ้างจาก  พิมพ์  รัตนคุณสาสน์.  มปป)

                             2.2.2.4 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  (ประมาณ พ.ศ. 2485 - 2490): หมอลำเรื่องต่อกลอน

                             หมอลำในอดีตมีจำนวนผู้แสดงเพียง 1 คน คือ ลำพื้น และเพิ่มเป็น 2 คน คือ ลำกลอน  และจำนวนผู้แสดงหมอลำก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถตั้งคณะได้จึงเรียกว่า หมอลำหมู่ ซึ่งหมอลำหมู่สมบูรณ์แบบเมื่อปี พ..2548  เกิดจากหมอลำ 3 คน คือ หมอลำทองคำ หมอลำคำกลอง หมอลำอินตา ชาวจังหวัดขอนแก่น ได้ฝึกหัดแสดงลำอย่างจริงจังและแพร่หลายในที่สุด ชุดเสื้อผ้าได้แบบอย่างมาจากการแต่งกายของลิเกภาคกลาง หมอลำหมู่จะลำอยู่ 2 แบบ คือ ลำเวียง และลำเรื่องต่อกลอน ลำเวียง คือ การลำทำนองแบบลาวเวียงจันทร์ ทำนองลำเอื้อนเสียงยาวเป็นช่วง ๆ ส่วนลำเรื่องต่อกลอนจะลำทำนองขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุบล สารคาม ซึ่งก็จะมีวาดลำต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีการเอื้อนเสียงช้า เช่นเดี่ยวกับลำเวียง กลอนลำจะอยู่ในกลุ่มของกลอนลำทางยาว เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดง ได้แก่ กลองชุด กีตาร์เบส กีตาร์ คีย์บอร์ด ซอ พิณ แคน เป็นต้น ผู้แสดงมีจำนวน 50-100 คน เนื้อหาของการแสดงมาจากวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน เช่น ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ บทบาทของผู้แสดงประกอบไปด้วย พระราชา พระมเหสี โอรส พระธิดา ทหาร ตัวตลก คนรับใช้ เป็นต้น เวลาทำการแสดงเริ่มตั้งแต่หลังเทียงคืน จนถึง 6 โมงเช้า ซึ่งหมอลำเรื่องต่อกลอนหรือลำหมู่ในปัจจุบันได้แพร่หลายทีและได้รับความนิยมทั่วทั้งอีสานเป็นอย่างมาก(ปริญญา ป้องรอด, 2544)  ตัวอย่างกลอน เช่น

กลอนลำทำนองขอนแก่น

หลาย ๆ ปีจั่งมาพ้อ     ไปเฮ็ดหยังมาน้อ  สั่งมางามแท้นอห่า

หรือแม่นเทพธิดา         เพิ่นลงมาจากฟ้ามาเยี่ยมมนุษย์เฮา

ผิวกะเหลื่อมเย้าๆ         ขาวผ่องนวลใส

พวกผู้ชายเหลียวเห็น    ซักกะเซนหนอเป็นบ้า

ขอโทษเด้อน้องหล้า      นอนคนเอียวหรือมีคู่

พี่ชายลำอยากฮู้                    เชิญเจ้าเล่าไข…”

ฯลฯ

(สุนทร  แพงพุทธ,  2556 หน้า 2)

                             2.2.2.5 ประมาณ พ.ศ. 2490-2510 : หมอลำเพลิน และหมอลำชิงชู้

                             ในช่วงนี้มีหมอลำเกิดขึ้นอยู่ 2 ประเภท คือ หมอลำเพลิน และหมอลำชิงชู้ ดังนี้

                                       1) หมอลำเพลิน  หมอลำเพลินพัฒนามาจากหมอลำหมู่ ลักษณะเด่นของลำเพลินที่ต่างจากลำหมู่คือ จังหวะดนตรีและทำนองลำจะคึกคักและรวดเร็วขึ้น ชุดการแต่งกาย เช่นกระโปรงจะสั้นกว่าลำหมู่ ผู้แสดงประกอบด้วย พระราชา พระมเหสี พระเอก นางเอก ตัวโกงชายหญิง ตัวรอง ตัวตลก เป็นต้น บทกลอนที่ใช้ลำมาจากวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่น สังข์สินไชย มโนห์รา เป็นต้น มีผู้แสดง 10-20 คน เครื่องดนตรีสากลที่นิยมได้แก่ กลองชุด กีตาร์เบส กลองทอม ออร์แกน คีย์บอร์ด แซกโซโฟน เป็นต้น และเครื่องดนตรีพื้นบ้านได้แก่ ซอ พิณ แคน โหวด ทำนองลำที่ใช้ลำได้แก่ ลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ย ลำเดิน และมีคั่นการแสดงด้วยเพลงลูกทุ่งหมอลำร่วมด้วย เนื้อหาของเพลงไม่จำเป็นต้องเข้ากับเรื่องราวที่หมอลำแสดงก็ได้     (ณัฐพงษ์  ภารประดับ,  2555  อ้างจาก จารุวรรณ ธรรมวัตร:  2520: 78-86) ตัวอย่างกลอน เช่น

                                                ลำเพลินเกี้ยวสาว

พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง  ออกมาส่องมองหา

ขาวนวล ๆ ในตาให้ส่งมาแน่เด้อยิ้ม

โอยนอนาง คำนาง พอเหลียวเห็นหน้าอำคาน้องพี่

สวัสดีทุกท่านวันนี้พบเห็น น้องผู้นั้นใส่ชุดสีลาย

จั่งแม่นงามเอาหลาย บ่าวพี่ชายบ่เคยพ้อ…”

ฯลฯ

(สุนทร  แพงพุทธ  2556 หน้า 59)

                                       2)  หมอลำชิงชู้  จัดอยู่ในกลุ่มของหมอลำกลอนแต่ปรากฏอยู่ในช่วงยุคปี พ.. 2490-2510 ประกอบด้วยชาย 2 คน หญิง 1 คน โดยผู้ชายสองคนจะต้องแสดงให้ฝ่ายหญิงเห็นว่าตนมีความเก่ง หล่อ และรวย เพื่อให้ฝ่ายหญิงสนใจและรับเป็นคนรัก หรือหากเพิ่มผู้ชายเป็น 3 คน หญิง 1 คน จะเรียกว่า ลำสามเกลอ หรือลำสามสิงห์ชิงนาง โดยที่ทั้ง 3 คนเป็นเพื่อนกันแต่รักหญิงคนเดียวกัน จึงทำการแย่งชิงกันเพื่อได้นางที่หมายปองมาเป็นคู่รัก ทั้ง 3  คน อาจจะมีอาชีพที่ต่างกัน เช่น พ่อค้า ชาวนา ข้าราชการ ซึ่งทั้ง 3 คน จะต้องโชว์ความสามารถลำยกตัวเองขึ้นอวดให้สาวสนใจซึ่งก็คล้ายกับการลำโจทย์ แก้ เป็นต้น  (คงฤทธิ์ แข็งแรง,  2537) ตัวอย่างกลอน เช่น

(หมอลำหญิง ทองสูน สุดาจิตร)

“…เอาอี่น้องจั่งว่าเดิกมาแล้วนี้ ขันเอานำนำ

แต่หัวค่ำจนว่าเดิกซักไซ้  มาแล้วเที่ยงคืน

ความลึกตื้นกะเว้าสู่กันฟัง แต่ว่ายังสงสัยฝ่ายทางสองอ้าย

สุพรรณ คำเก่ง คันแม่นชายพอใจน้อง

ของประจำนำฝาก จั่งสิสมอยากได้ให้เป็นหมั่นแก่นสาน

ความปากต้านมันบ่เที่ยงเป็นธรรม

บ่ทันเห็นเป็นของจำเชื่อคำบ่ทันได้…”

ฯลฯ

(หมอลำชาย สุพรรณ ตระรินันท์)

“…ว่าจั่งใดละสายใจน้องรัก

คันไผฮักให้หาของมาจำนำวะติ

หาของมาจำนำว่าแม่นไผใจกลั่นว่าซั้นเบาะ

ข่อยแห่งปวดเอานั้นเว้าพื้นจำของ

แต่จำแล้วกะอยากลองเห็นดีโลดถี่

คันซื้อแล้วกะอยากขี่แนวม้าสองขา

คันตกลงราคาเงินคำจำฝาก

สิ่งให้ข่อยยากบ่ละแม่อีหนู…”

ฯลฯ

(หมอลำชาย คำเก่ง บัวใหญ่)

“…เอาเด้อเด้อนางอยากฟังเด้อน้องทองใบน้องใหม่

สาวทองสูรย์มีทองให้มีทองมั่นยังจำ

พี่นี้กะพอใจนำคั่นน้องบ่เกี้ยวทางอื่นทางฮือ

ทองสูรย์เอย สูรย์เอย คันสิคือความจาว่ามาเดียวนี้

ทองชายมีมาแล้วแนวจำของฝาก

อย่าได้คิดอยากเถอะคันน้องแน่ใจ…”

ฯลฯ

(ไพบูรณ์  แพงเงิน,  2534  อ้างจาก ราชบุตรสเตอริโอ)

                             2.2.2.6 ปี พ.ศ.2523-2524: หมอลำเพลินประยุกต์ และเพลงลูกทุ่งหมอลำ

                                      ในช่วงนี้มีหมอลำเกิดขึ้นอยู่ 2 ประเภท คือ หมอลำเพลินประยุกต์ และเพลงลูกทุ่งหมอลำ ดังนี้

                                      1) หมอลำเพลินประยุกต์  หมอลำเพลินประยุกต์พัฒนามาจากหมอลำเพลินธรรมดาซึ่งจุดเด่นของหมอลำเพลินประยุกต์อยู่ที่กระโปงของนักร้องและหางเครื่อง จะสั้นเหนือหัวเข่า จนเรียกว่า หมอลำกกขาขาว เรื่องราวที่นำมาแสดงก็จะเหมือนลำเพลินยุคแรก คือ นำมาจากวรรณกรรมอีสาน เช่น ลำเพลินแก้วหน้าม้า ลำเพลินขุนช้างขุนแผน (สนอง คลังพระศรี,   2541) ภายหลังจากทำนองลำเพลินธรรมดาทั่วไป ก็มีทำนองที่เรียกว่า ลำแพน เกิดขึ้นซึ่งลำเพลินประยุกต์นี้จะเน้นเพลงลูกทุ่งหมอลำสลับลำแพนมากที่สุด

                                      2)  เพลงลูกทุ่งหมอลำ ในสมัยช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้นิยมร้องเพลงรำวงกันมาก จนกระทั่งหมอลำได้นำมาดัดแปลงเนื้อร้อง และทำนองของเพลงรำวง โดย ร้องเพลงลำวงสลับลำจนเกิดเป็น เพลงหมอลำขึ้น ซึ่ง กฤษฎา ศรีธรรมา สันนิฐานว่าเพลงหมอลำที่บันทึกเสียงเพลงแรก คือ รำเกี้ยวสลับรำวงของ คำปุ่น ฟุ้งสุข (กฤษฎา  ศรีธรรมา,  2534) ตัวอย่างกลอน เช่น

 

‘’…(ลำ) แงงดูหน้า สายตาคิ้วโก่ง

น้องเป็นคู่โค้ง คุณพี่อย่าเฉย

เลยมาร้องรำวงเกี้ยวต่อ

มาเถิดหนอเนื้อเกลี้ยงเสียงเว้าบ่ลง

(เพลง) ยิ้มอยู่ทำไมเธอจ๋า (ซ้ำ)

ลุกขึ้นมามาเล่นลำวง ฉันโค้งโฉนไม่รำ (ซ้ำ)…”

ฯลฯ

(กฤษฎา  ศรีธรรมา,  2534 อ้างจาก แผ่นเสียงตากระตายของบริษัทโคลัมเบีย CET 37009  คำปุ่น ฟุ้งสุข ผู้ลำ)

                             2.2.2.7 ปี พ.ศ. 2529- ปัจจุบัน: หมอลำซิ่ง

                             หมอลำซิ่งพัฒนามาจากการลำกลอนวาดขอนแก่น มีทำนองอยู่ 4 ทำนอง คือ ทำนองลำทางสั้น ทำนองลำทางยาว ทำนองลำเดิน และทำนองลำเต้ย (นันท์รวี  ขันผง,  2537)  ซึ่งลำซิ่งเป็นการลำสลับเพลงมีแคน พิณ เบส และกลองชุดเป็นเครื่องดนตรีประกอบโดยมีหางเครื่องประกอบการลำด้วย ลำซิ่งเกิดจากหมอลำราตรี ศรีวิไล และพี่ชาย คือ หมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรือง ได้คิดค้นประยุกต์เอาลำกลอนมาพัฒนารูปแบบใหม่โดยเฉพาะการนำลำกลอนที่มีแต่แคน เป็นเครื่องดนตรีประกอบลำ ซึ่งยังไม่เข้ากับยุคสมัยจึงได้นำเครื่องดนตรีสากลมาเสริมในกลอนลำทางสั้นที่ให้จังหวะเร็วเกิดอารมณ์ตื่นเต้น จนเกิดเป็นคอนเสิร์ตลำซิ่งขึ้นตั้งแต่ปี พ.. 2529 เป็นต้นมา (วุฒิศักดิ์ ตะกะศิลา, 2541) ตัวอย่างกลอน เช่น

กลอนลำซิ่ง

“… (ลำ) เอาละน้อบัดนี้คุณพ่อศรัทธา หลานสิพันละนายาดีบอกต่อ

อยู่นำแม่นำพ่อนำตนอัตตา บ่ต้องไปซื้อหาเงินคำกำแก้ว

(เต้ยพม่า) อ้ามามามามามา มาเถิดพี่ยาออกกำลังกาย

ประโยชน์มันมีมากมาย สุดจะบรรยายให้พี่น้องฟัง

(ลำเดินขอนแก่น) ขออำลาทุกท่าน มีงานมีการจั่งพ้อกันใหม่

ขอส่งพรปฏิบัติให้ได้ ๆๆ สิพาให้แม่สำบาย …”

ฯลฯ

(ประมวล พิมพ์เสน,   2546)

                                      สรุปได้ว่า หมอลำมีพัฒนาการมาด้วยกันทั้งหมด 7 ยุค คือ  1)  ก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 (ก่อน พ.ศ. 1900) เกิดหมอลำผีฟ้า และผญาเกี้ยว  2)  พุทธศตวรรษที่ 20 (หลัง พ.ศ. 1900)        เกิดเทศน์แหล่ของพระสงฆ์  3)  พุทธศตวรรษที่ 24 (หลัง พ.ศ. 2322) เกิดหมอลำพื้น และหมอลำกลอน 4)  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณ พ.ศ. 2485 - 2490) เกิดหมอลำเรื่องต่อกลอน  5)  ประมาณ พ.ศ. 2490 – 2510 เกิดหมอลำเพลิน และหมอลำชิงชู้  6)  ปี พ.ศ. 2523 – 2524 เกิดหมอลำเพลินประยุกต์ และเพลงลูกทุ่งหมอลำ  และ 7)  ปี พ.ศ.2529 – ปัจจุบัน เกิดหมอลำซิ่ง   ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าศิลปะการแสดงพื้นบ้านของอีสานได้รับการสืบทอด และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง การแสดงหมอลำสามารถแยกเป็นกลุ่มตามความถนัดของผู้แสดงได้ 3 ส่วน คือ 1) กลุ่มหมอลำกลอน และหมอลำซิ่ง 2) กลุ่มหมอลำพื้น หมอลำเรื่องต่อกลอน หมอลำเพลิน และ 3) กลุ่มหมอลำประยุกต์  และเพลงลูกทุ่งหมอลำ การแสดงทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะมีอัตลักษณ์เฉพาะของตนอย่างชัดเจน โดยอาศัยความถนัดของผู้แสดง ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้หมอลำของอีสานแพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วยรูปแบบการแสดงที่หลากหลาย ทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสตัดสินใจในการเลือกชมการแสดงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

ข่าวเรียกบรรจุครูทั่วไทย อ่านต่อได้ที่: http://www.kruwandee.com/widget.html

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน
ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน